ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เคลียร์ให้ชัด : กินยาละลายลิ่มเลือด ฉีดวัคซีนได้หรือไม่

เคลียร์ข่าวชัด 7HD - หญิงอายุ 46 ปี ป่วยเป็นไมเกรน ฉีดแอสตราเซเนกา เสียชีวิต ทำเอาหลายคนที่เตรียมไปรับวัคซีนถึงกับผวา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่จาก สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุชัดเจน เป็นไมเกรนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ ขณะที่ผู้ผลิตก็มีรายละเอียดข้อบ่งชี้ถึงอาการข้างเคียง เป็นอย่างไร วันนี้มาเคลียร์ให้ชัด

เหตุที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวอายุ 46 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค บอกว่า เตรียมนำปัญหานี้เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ซึ่งต้องรอผลการชันสูตรอีกทางด้วย แต่ยืนยันว่า ไมเกรน ไม่ใช่โรคที่อยู่ในข้อแนะนำการห้ามฉีดวัคซีน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมง หลังฉีดวัคซีน ต้องให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาร่วมกัน ไม่อยากด่วนสรุป

เช่นเดียวกับสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ก็ยืนยันว่าคนเป็นไมเกรนฉีดวัคซีนได้ และไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนก่อนฉีด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Acetaminophen (อะเซตามีโนเฟน) ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine (เออร์โกตามีน) และคาเฟอีน หรือยาในกลุ่มทริปแทน หรือยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ยาในกลุ่มยากันชัก ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม ยาในกลุ่มต้านเบต้า และยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยกินอยู่เป็นประจำ

ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดจะมีไหม จะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว เช่น อาการชา หรืออาการอ่อนแรง แต่ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติ จากการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง และการตรวจหลอดเลือดในสมอง

ดังนั้น อาการดังกล่าว อาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และไม่พบลิ่มเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง ที่สำคัญอาการดังกล่าวหายเองได้ ส่วนอาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง พบได้น้อยมากประมาณ 1-2 คนต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และสามารถรักษาได้

แล้วผู้ป่วยไมเกรนควรปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าผู้ป่วยไมเกรนที่กินยากลุ่ม NSAIDs, ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine (เออร์โกตามีน) และคาเฟอีน หรือยาในกลุ่มทริปแทน เป็นยาแก้ปวดศีรษะ กินเฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะ ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้น กินยาแก้ปวดไมเกรนได้ โดยหากปวดน้อยหรือปานกลาง เลือกใช้ยาในกลุ่ม Acetaminophen (อะเซตามีโนเฟน) หรือ NSAIDs แต่ถ้ารุนแรง ให้เลือกใช้ยาแก้ปวดที่จำเพาะ เช่นยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine (เออร์โกตามีน) และคาเฟอีน หรือยาในกลุ่มทริปแทน แต่หากไม่เคยกินยาแก้ปวด อาจต้องระวังอาการผลข้างเคียงจากยา ซึ่งเกิดขึ้นได้ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการใจสั่น และอาการชา

หากผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน ไม่แนะนำให้หยุดยา เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะกำเริบเกิดขึ้นได้

ส่วนยาป้องกันไมเกรน ในกลุ่มยากันชัก ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม ยาในกลุ่มต้านเบต้า และยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่กินประจำ ไม่แนะนำให้มีการหยุดยาเช่นกัน

แล้วผู้ป่วยไมเกรนต้องเตรียมตัวฉีดวัคซีนอย่างไร ให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรนให้กำเริบ เช่น ความเครียด การนอนไม่ตรงเวลา การกินอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และในวันที่ฉีดวัคซีน ให้ดื่มน้ำ กินอาหารให้เพียงพอ และลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นไมเกรนได้ ที่ต้องระวังคือ ในสถานที่ฉีดวัคซีน อาจมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะกำเริบ เช่น อากาศร้อน ความแออัด ความเครียด เสียงดัง ซึ่งอาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบได้ ให้เตรียมยาแก้ปวดไมเกรนไปด้วย กรณีที่มีอาการปวดศีรษะ สามารถใช้ยาแก้ปวดระงับอาการปวดได้

แล้วการฉีดแอสตราเซเนกา มีผลข้างเคียงอย่างไร ที่ผ่านมาพบว่า โดยทั่วไปมากกว่า 60% มีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีด มากกว่า 50% มีอาการปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย มากกว่า 40% มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว มากกว่า 30% มีอาการไข้ หนาวสั่น มากกว่า 20% มีอาการปวดข้อ และคลื่นไส้

โดยข้อมูลในสหราชอาณาจักร พบภาวะลิ่มเลือก 0.000013% ใน 1,000,000 คน และจากข้อมูลการใช้วัคซีนในประเทศอินเดีย พบภาวะลิ่มเลือด 0.61 ใน 1,000,000 คน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark