ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

สวทช.เร่งวิจัยวัคซีนโควิด-19 พ่นจมูก เพิ่มภูมิคุ้มกันระบบทางเดินหายใจส่วนบน

ข่าวในประเทศ,ข่าวสังคม 30 กันยายน 2564 - นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า สวทช.เป็นหนึ่งในทีมไทยที่พัฒนาวัคซีน โดยเน้นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้ประเทศเรื่องเทคโนโลยีได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ไวรัสโควิด-19 ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ จึงต้องคิดค้นเทคโนโลยีวัคซีนทางเลือกใหม่ ที่ป้องกันการติดเชื้อได้อีกทาง เป็นเทรนด์เทคโนโลยีการฉีดวัคซีนเข้าทางจมูก เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันระบบทางเดินหายใจส่วนบน

ดังนั้น ไอเดียการนำไวรัลเวกเตอร์ ที่มีคุณสมบัติติดเซลล์ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี คาดหวังว่า แอนติบอดีต่อเยื่อเมือก น่าจะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นไอเดียที่ทาง สวทช.นำเสนอวัคซีนรูปแบบใหม่ โดยการพัฒนาวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ในรูปแบบฉีดพ่นจมูก 

สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูกชนิด Adenovirus-based เบื้องต้นผลการทดลองในหนูชนิดพิเศษ พบว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสแบบฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม จะเห็นว่า วัคซีนแบบฉีดพ่นจมูก มีคุณสมบัติป้องกันได้ดีกว่าไม่ฉีดอะไรเลย โดยฉีดเข้าจมูกป้องกันการติดเชื้อในปอดค่อนข้างดี อีกทั้งผลการศึกษาเบื้องต้นกรณีเดลตานั้น การนำส่งไวรัสแบบฉีดพ่นจมูกอาจเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่างได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ไบโอเทคยังพัฒนาด้วยการปรับแต่ง Influenza-based คือ การปรับแต่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี หรือใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดพ่นจมูกอยู่แล้วปรับแต่งให้แสดงออกโปรตีนของโควิด-19 เรียกว่า พัฒนาให้สามารถป้องกันทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกัน เตรียมเข้าสู่การทดสอบในหนูต่อไป แต่เบื้องต้นก็มีข้อมูลว่า แอนติบอดีต่อโควิด-19 พบภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี อีกทั้งหนูที่ได้วัคซีนแบบพ่นจมูก 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน 

สำหรับวัคซีนอะดิโนไวรัส ขณะนี้ได้ผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยจะขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อขอทำการทดสอบเฟส 1 ซึ่งวางแผนต้นปี 2565 เริ่มทดลองในมนุษย์ นอกจากนี้ จะมีแผนต่อไปคือ การทดสอบวัคซีนแบบพ่นจมูกต่อสายพันธุ์เดลตา อยู่ระหว่างรอผลทดลอง

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นหน้า หรือ generation 2 โดยปรับเปลี่ยนสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น ขณะนี้ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะเข้าการทดสอบมนุษย์เฟส 1 ต่อไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark