ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

น้ำท่วมภาคอีสาน ภาคตะวันออก น่าห่วง

ข่าวภาคค่ำ - อิทธิพลของพายุโซนร้อน "คมปาซุ" ทำให้มีฝนตกหนัก และน้ำป่าทะลักเข้าท่วมภาคตะวันออก ขณะที่ การระบายน้ำในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง ยังไม่พ้นวิกฤต

น้ำท่วมภาคอีสาน ภาคตะวันออก น่าห่วง
พื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่มีฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ จนถึงช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าจากที่สูงหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน วัด และถนนหลายสาย ทั้งที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด บางหมู่บ้านถูกมวลน้ำล้อมปิดทางเข้า-ออก

สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงในช่วงบ่าย หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดจนเห็นผิวการจราจร แต่ไม่สามารถใช้สัญจรได้ เนื่องจากถนนหลายสายถูกน้ำกัดเซาะ ส่วนพื้นที่ลุ่ม ที่อยู่ตามแนวลำคลองและแม่น้ำ ปริมาณน้ำแทบจะไม่ลดเลย ภาพถ่ายมุมสูงทำให้เห็นสภาพของชุมชนจมน้ำ บางจุดไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ชาวบ้านต้องทิ้งที่อยู่และขนย้ายทรัพย์สินขึ้นริมถนน

แม่น้ำชี ที่ไหลผ่านทางภาคอีสาน ก็ยังน่าห่วง พบพนังกั้นลำนำสาขา ที่จังหวัดมหาสารคาม พังเพิ่มรวมเป็น 2 จุดแล้ว ทำให้นาข้าว กว่า 30,000 ไร่ ถูกมวลน้ำจำนวนมากเข้าท่วม 

ขณะที่ แม่น้ำมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าไม่ดี เพราะยังคงล้นตลิ่งอยู่ 3 เมตร เนื่องจากแม่น้ำชีไหลลงมาสมทบ ต้องเร่งเสริมพนังป้องกันน้ำฝั่งเทศบาลนครอุบลราชธานี เช่นเดียวกับพื้นที่ชั้นในของอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่เริ่มมีน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำ "ห้วยอีเลิศ" หลากเข้าท่วมแล้ว เทศบาลฯ ต้องเสริมกระสอบทรายกั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้าไปในตัวชุมชน

สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้จะไม่มีฝนตกลงมาเติมซ้ำ แต่การระบายน้ำแทบจะไม่ลง เพราะมีน้ำทะเลหนุน ทำชาวบ้านที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับร้อยหลังคาเรือนเดือดร้อนหนัก

เตือน 17 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง-ดินถล่ม
เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท วันนี้ ยังคงรักษาอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 2,326 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากน้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ เริ่มลดลงต่อเนื่อง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือน 17 จังหวัด เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark