ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง อบต.

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนท่านผู้ชมเปิดกรุการคลังท้องถิ่น อบต.ไหนร่ำรวยสุด แห่งไหนจนข้นแค้น ควรแก้ไขอย่างไร ติดตามกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

ปิดรับสมัครกันไปแล้วสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. ทั้ง 5,300 แห่งทั่วประเทศ จากนี้ไปผู้สมัครแต่ละคนก็คงจะเดินสายหาเสียงในตำบล ส่วนจะถึงฝั่งฝันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงคะแนนของพี่น้องประชาชนในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้

สิ่งที่ประชาชนควรรู้คือ คนเหล่านี้จะเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารท้องถิ่น ซึ่งหากรวมงบประมาณของเทศบาลตำบลด้วยแล้ว ก็จะเป็นเงินมากกว่า 200,000 ล้านบาทเลยทีเดียว การเลือกใครเข้าไปเป็นตัวแทน จึงมีความสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เพราะ อบต.ถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด

จากข้อมูลรายได้รวมเงินอุดหนุนของ อบต.ทั้ง 5,300 แห่ง ในปีงบประมาณ 2563 พบว่า อบต.บางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ มีรายได้สูงสุดรวม 638.75 ล้านบาท ต่ำที่สุดคือ อบต.แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้เพียงแค่ 15.91 ล้านบาทเท่านั้น หรือห่างกันกว่า 50 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยต่อ อบต. 1 แห่ง จะอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท โดยรายได้หลักของ อบต.มาจากหลายแหล่ง ทั้งจากที่ อบต.จัดเก็บเอง จากรัฐจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐแบ่งให้ และเงินอุดหนุนทั่วไป โดยรายได้ที่คาดหวังกันมากคือจาก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเพิ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่หลังเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้มีการลดภาษีส่วนนี้ลง 90%

มีข้อเสนอให้สังคายนาโครงสร้าง อบต. และการบริหารงบประมาณใหม่ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินและการพัฒนากระจายไปได้อย่างทั่วถึง

เงินทองมีจำกัด การหารายได้ในภาวะวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่าย การได้คนดี ใจซื่อ มือสะอาด มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน เข้าไปเป็นผู้บริหาร จึงมีความจำเป็น 28 พฤศจิกายนนี้ เป็นอีกหนึ่งโอกาสของคนไทย ที่จะใช้สิทธิอย่างสุจริต ไม่เลือกคนทุจริตเข้าไปปกครอง ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนในตำบลของท่าน ด้วยตัวท่านเอง หยุดขายเสียง จุดเปลี่ยนประเทศ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark