ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : เจาะสาเหตุหมูแพง เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด วันนี้ ชำแหละโครงสร้างราคาหมู ที่ปัจจุบันราคาพุ่งพรวด สาเหตุเกิดจากอะไร การแทรกแซงราคาของกระทรวงพาณิชย์ได้ผลจริงหรือ ทุกข์ของฟาร์ม ทุกข์ของผู้บริโภค มีวิธีแก้ไขหรือไม่ จะได้รู้ครบ จบในช่วงนี้

ปัญหาราคาหมูหน้าเขียงมีราคาแพง 1 กิโลกรัม บางพื้นที่ขายกันเริ่มตั้งแต่ 150-180 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อตรวจสอบปัญหาหมูแพงย้อนกลับไปที่หน้าฟาร์ม ซึ่งคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ใน Pig Board พิจารณาต้นทุนผลิตสุกรเฉลี่ย ปี 2564 ประเมินต้นทุนเฉลี่ย ไตรมาส 3 และ 4 ดังนี้

กรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงขุน เฉลี่ยทั้งปี 78.40 บาทต่อกิโลกรัม โดยช่วงไตรมาส 3 อยู่ที่ 80.80 บาทต่อกิโลกรัม และไตรมาส 4 อยู่ที่ 76.94 บาทต่อกิโลกรัม

กรณีผลิตลูกสุกรเองเฉลี่ยทั้งปี 70.42 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาในไตรมาส 3 อยู่ที่ 72.32 บาทต่อกิโลกรัม และไตรมาส 4 อยู่ที่ 72.88 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประกาศราคาระหว่างวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2564 พบว่า สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 73.95 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 72.59 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า การเลี้ยงหมู 1 ตัว มีต้นทุนหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ทั้งอาหารสัตว์, แรงงาน, ระบบไบโอซีเคียวริตี หรือ ระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มเลี้ยง และการขนส่ง รวมทั้งยังมีปัจจัยความต้องการบริโภคกับปริมาณของหมูที่ผลิตออกมาด้วย โดยพิษโควิด-19 ก่อนหน้านี้ทำให้ภาคการบริโภคหมูลดลง เพราะไม่มีทั้งนักท่องเที่ยว และประชาชนในประเทศยังรัดเข็มขัดในการบริโภคแล้ว ปีนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังต้องประสบกับภาวะโรคระบาดจนทำให้หมูแม่พันธุ์ลดลงเกือบครึ่ง ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก บาดเจ็บหนัก บางรายล้มหายตายจากไปเหลือราว 150,000 คน จากราว 200,000 คน

เมื่อการเลี้ยงหมูในปัจจุบัน ที่มีความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ อย่าง โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคในหมูเดิมที่พบบ่อยอยู่แล้ว ยิ่งปีนี้ที่จำนวนแม่พันธุ์ลดลงไปถึง 35 เปอร์เซ็นต์ การจะอยู่รอดระยะยาว มีคำแนะนำให้ฟาร์มต่าง ๆ เร่งสร้างระบบการเลี้ยงที่มีการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม และทำมาตรฐานฟาร์มหมู หรือ GAP (Good Agricultural Practices : GAP) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญชวนฟาร์มหมูเร่งจัดทำเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น แม้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุน คาดว่ามีเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถตัดวงจรโรคในหมูได้

ต้องบอกว่าการเลี้ยงหมูในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนการรับประทานหมู เพราะกว่าจะมาเป็นหมูบนโต๊ะอาหาร ต้องผ่านทั้งความเสี่ยงในเรื่องของโรคระบาด, ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ แรงงาน และยังต้องวัดดวงกับกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าเม็ดเงินในกระเป๋าจะเหลือพอกับการซื้อหมูรับประทานหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark