ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ดัชนีความโปร่งใสไทยแพ้ ติมอร์-เลสเต พ่ายเวียดนาม

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ พาท่านผู้ชมไปติดตามดัชนีความโปร่งใสของไทยในสายตาโลก ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา อันดับของไทยหล่นลงไปอีก 6 อันดับ จาก 104 ไปอยู่ที่ 110 ของโลก เป็นเพราะอะไร ไปติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

สด ๆ ร้อน ๆ กับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ ซีพีไอ ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับทุกปี โดยผลประจำปี 2564 ที่เพิ่งออกมาวันนี้ ปรากฏว่า คะแนนของไทยลดลงจาก 36 หล่นไปอยู่ที่ 35 ตกเพียงแค่คะแนนเดียว แต่สะเทือนถึงอันดับโลก ร่วงไปถึง 6 อันดับ จากเคยอยู่ที่ 104 ในปี 2563 ไปอยู่อันดับที่ 110 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ แพ้แม้กระทั่งติมอร์-เลสเต เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

สำหรับแหล่งข้อมูลของคะแนนจาก CPI ปี 2564 ที่ใช้ในการประเมิน มีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่ามี 4 เรื่อง ที่ไทยได้คะแนนเท่าเดิม และ 4 เรื่องที่ได้คะแนนลดลง เรื่องที่ติดลบมากที่สุด คือ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ปีนี้ได้ 35 คะแนน ลดลงถึง 3 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

ส่วนคะแนนที่ได้เพิ่ม คือ การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน

แม้คะแนนที่ได้ 35 คะแนน จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 50 คะแนน ถึง 15 คะแนน แต่ในปี 2565 ป.ป.ช. ยังวางเป้าหมายให้ได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตเพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนน เท่ากับเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้

ขณะที่ อดีต ป.ป.ช. ชี้ถึงปัญหาที่ทำให้ดัชนีความโปร่งใสของไทยตกต่ำลงหลายปีต่อเนื่อง ว่า เป็นเพราะการออกกฎหมายรองรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ประชาชนไม่กล้าให้ข้อมูลจับทุจริต

เจตจำนงแห่งรัฐในการปราบปรามการทุจริต เป็นธงนำที่จะทลายทุกข้อจำกัด แค่การประกาศด้วยคำพูดให้การปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ คงไม่เพียงพอ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark