ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : เด็กพิเศษ หลุดระบบการศึกษา

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด ถึงสถานการณ์ด้านการศึกษาใน กทม. ไม่ใช่แค่เด็กปกติเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาเข้าไม่ถึงการศึกษา แต่เด็กพิเศษซึ่งเป็นกลุ่มของเด็กมีความบกพร่องทางร่างกายและพัฒนาการเรียนรู้  ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปในแต่ละปี อะไรคือสาเหตุของปัญหานี้ ติดตามได้จากรายงานคุณดารินทร์ หอวัฒนกุล

ครูและนักสหวิชาชีพจากศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ค้นหาเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีความพิการ 9 ประเภท ที่มีอายุถึงวัยเรียน เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาตามสิทธิของเด็ก
  
แม้จะมีข้อมูลในมือที่ได้รับมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ซึ่งรวบรวมจากการขึ้นทะเบียนผู้พิการ แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีเพียงแค่ชื่อและที่อยู่ การค้นหาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ความเติบโตของเมือง และปัญหาของประชากรแฝง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการค้นหาเด็กพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวต้องย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่บางครอบครัวแม้จะค้นหาพบแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่สามารถพาลูกออกไปเรียนที่โรงเรียนได้ ทำให้ต้องใช้วิธีการปรับบ้านเป็นห้องเรียน

ศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะ ความแตกต่างของที่นี่กับโรงเรียนทั่วไป คือ เด็กทุกคนจะมีแผนการเรียนการสอนเฉพาะของตัวเอง โดยมีครู นักสหวิชาชีพ และผู้ปกครอง ที่จะวางแผนจัดการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาเด็กแต่ละราย ซึ่งรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ก่อนที่จะออกไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนทั่วไปด้วย

ในการเรียนแต่ละครั้ง ผู้ปกครองจะต้องเข้าไปเรียนร่วมกับลูกหลานของตนเอง เพื่อให้สามารถนำกลับไปสอนและพัฒนาเด็กได้อย่างต่อเนื่องเมื่ออยู่ที่บ้าน

แม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีศูนย์การศึกษาพิเศษอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมายังคงพบปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา สาเหตุส่วนหนึ่งจากความไม่เชื่อมต่อข้อมูลกันของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปัญหาด้านเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว ทำให้เด็กพิการหลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง และกลางคัน

ข้อมูลจาก พม. ประเทศไทยมีคนพิการทั้งหมด 2,108,536 คน ในจำนวนนี้ อายุถึงเกณฑ์เข้าเรียน แต่ยังไม่ได้รับการศึกษา 19,726 คน

ขณะที่จำนวนนักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ มี 25,643 คน ส่วนบุคลากรด้านการศึกษา มีเพียง 6,006 คน

ในจำนวนนี้ มีนักกิจกรรมบำบัด และจิตวิทยาคลินิก ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินพัฒนาการของเด็ก เพื่อวางแผนการเรียนการสอน 154 คน หรือเพียงแค่ศูนย์ละ 2 คน แม้จะสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในงานที่ต้องใช้ความเข้าใจและอดทนสูง สวนทางกับค่าตอบแทน ที่มีค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มให้เพียงแค่เดือนละ 2,500 บาท
 
เป้าหมายในการศึกษาของเด็กพิเศษ ไม่สามารถวัดได้ด้วยการสอบวัดผล เหมือนเช่นระบบการศึกษาทั่วไป แต่คือการพัฒนาเด็กให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การทำงานเชิงรุกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่ใช่การผลักภาระไปที่ผู้ปกครองเพียงลำพัง

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ : www.ch7.com/bangkokelection

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark