ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เพลิงไหม้โรงงานผลไม้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

เช้านี้ที่หมอชิต - ตำรวจยืนยัน เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตน้ำผลไม้ ย่านพระประแดง ไม่ใช่การวางเพลิง ขณะที่ ปภ.ยอมรับ โรงงานหลายแห่งในสมุทรปราการ อยู่ในภาวะเสี่ยง เหตุมีอายุการใช้นานยาวนาน ขณะที่หัวแดงดับเพลิง แทบไม่เหลือให้ใช้ เตรียมปรับโครงสร้างรับมือเหตุซ้ำรอย

นี่เป็นสภาพขณะที่ เพลิงกำลังลุกโหมจนควันไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเงาดำทมึน มองเห็นจากระยะไกล ตรวจสอบพบว่า ต้นเพลิงคือ โรงงานแพนสยามฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำผลไม้ น้ำหวาน ตั้งอยู่ในซอยวัดโยธินประดิษฐ์ เลขที่ 85/2 หมู่ 3 ถนนริมทางรถไฟสายเก่า ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไฟได้ลุกไหม้ ถังบรรจุภัณฑ์ และพลาสติกจำนวนมาก ทำให้มีก๊าซคลอรีน เกิดขึ้นในอาคาร ทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง หน่วยกู้ภัย และเทศบาลเจ้าของพื้นที่ ต่างช่วยกันระดมรถน้ำ เข้ามาช่วยกันฉีดพ่นน้ำหลายชั่วโมง กว่าจะควบคุมเพลิงเอาไว้ได้

ปภ.จังหวัดสมุทรปราการ ยอมรับว่า ช่วงแรกสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากหัวแดงรับน้ำไม่มี ประกอบกับโรงงานมีอายุการใช้งานยาวนาน ซ้ำทางเข้าออกยังแคบ เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่น่าห่วงกว่านั้น พบว่าโรงงานหลายแห่งในจังหวัดสมุทรปราการ ก็มีลักษณะเช่นนี้

จากการตรวจสอบและพูดคุยกับเจ้าของโรงงานทราบว่า ขณะเกิดเหตุเป็นวันหยุด ไม่มีพนักงานอยู่ และต้นเพลิง ก็เป็นโกดังเก็บบรรจุภัณฑ์ ไฟจึงโหมขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนถังบรรจุสารเคมี ที่เป็นก๊าซไวไฟ เป็นเพียงถังเปล่า จึงไม่น่ากังวล อย่างที่หลายฝ่ายห่วง สอบสวนเบื้องต้นทั้งนายอำเภอและตำรวจ ยืนยันตรงกันว่า งานนี้ไม่ใช่การวางเพลิง แต่สาเหตุที่แท้จริงต้องสอบสวนก่อน

ทั้งนี้นักวิชาการอย่าง นายสนธิ คชวัฒน์ ออกมาแนะนำว่า เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ และภายในโรงงาน มีถังไฮโดรเจน อาจจะระเบิดขึ้นมา เมื่อเกิดความร้อนสะสมเป็นเวลานาน และก๊าซไฮโดรเจนที่รั่วไหลออกมา จะติดไฟเมื่อผสมกับก๊าซออกซิเจน

ดังนั้นแนะนำให้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงถังโฮโดรเจนไว้ก่อน เพื่อกันไม่ให้สะสมความร้อนมากจนเกิดการระเบิด โดยต้องอยู่ห่าง ๆ แต่หากคิดว่ารับมือไม่ไหวต้องถอนตัวออกมาทันที และต้องให้ประชาชน ที่อยู่ใกล้เคียง ออกมาอยู่ทางด้านเหนือทิศทางลม เพราะอาจได้รับมละพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ควันดำ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ CO ก๊าซคลอรีน และสารเคมี ที่ยังไม่ทราบชนิดในโรงงานได้ รวมทั้งควรเตรียมตัวอพยพออกห่างจากโรงงานในระยะอย่างน้อย 500 เมตร เพื่อป้องกันการระเบิดของถังสารเคมี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark