ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

คุมเข้มมาตรฐาน การจุดบั้งไฟในงานประเพณี จ.กาฬสินธุ์

เช้านี้ที่หมอชิต - ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน ถูกยกเลิกห้ามจัดมานานกว่า 2 ปี เพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่ปีนี้แต่ละจังหวัดอนุญาตให้ชาวบ้านจัดงานบุญบั้งไฟได้ในช่วงเวลา 1 เดือน เพื่อสืบสานประเพณีได้ โดยผู้จัดงานต้องคุมเข้มมาตรฐานการจุดบั้งไฟ ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ไปติดตามจากรายงานของคุณชนะชัย แก้วผาง

ก่อนบั้งไฟจะทะยานขึ้นฟ้า ในงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ คณะกรรมการจะตรวจสอบความปลอดภัยโดยรอบบริเวณฐานจุดบั้งไฟ พร้อมแจ้งเตือนให้ทุกคนออกห่างอย่างน้อย 50 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ก่อนจุดบั้งไฟแต่ละบั้ง โดยเฉพาะบั้งไฟขนาดใหญ่อย่าง บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้าน คณะกรรมการจะมีสัญญาณแจ้งเตือนเป็นธงสีแดง และธงสีเขียว หากพร้อมจุดจะให้สัญญาณธงสีเขียว นั่นหมายความว่า พิธีกรจะต้องประกาศให้ทุกคนออกห่างจากฐานตามกำหนด ดังนั้นหากใครไปร่วมดูบั้งไฟ ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเข้มงวด

ทันทีที่บั้งไฟทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า คณะกรรมการอย่างน้อย 5 คน จะใช้กล้องส่องทางไกลตรวจสอบไม่ให้คลาดสายตา นอกจากจะส่องเพื่อจับเวลาแข่งขัน แต่ยังช่วยตรวจทิศทางจุดตกของบั้งไฟ ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

นั่นเป็นเพียงขั้นตอนการเฝ้าระวังหลังจุดบั้งไฟไปแล้ว แต่บั้งไฟจะปลอดภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการผลิตบั้งไฟของแต่ละค่าย เพราะหากบั้งไฟของพวกเขาแตกระเบิดคาฐาน นอกจากจะเป็นอันตราย ก็ทำให้ลูกค้าไม่เชื่อมั่น ดังนั้นทุกขั้นตอนการทำบั้งไฟ จนถึงขั้นตอนการจุด จึงต้องละเอียด ไม่ประมาท

ช่างทำบั้งไฟของค่ายแอ๊ดเทวดา จากจังหวัดยโสธร ในวัย 70 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำบั้งไฟมานานกว่า 50 ปี เปิดเผยว่า การป้องกันอันตรายจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต และก่อนนำบั้งไฟขึ้นฐานจุด ก็จำเป็นต้องตรวจสอบจนมั่นใจว่า บั้งไฟจะไม่เกิดอันตราย

ปัจจุบันค่ายบั้งไฟส่วนใหญ่จะใช้ท่อพีวีซีทำบั้งไฟ เพื่อลดความรุนแรง เพราะในอดีตเคยใช้ท่อเหล็ก และเป็นอันตรายอย่างมาก ที่สำคัญหากเป็นท่อพีวีซี เมื่อบั้งไฟเกิดการเผาไหม้บนท้องฟ้า ก่อนตกสู่พื้น ก็สามารถลดความอันตรายได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark