ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ยกระดับมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง

เช้านี้ที่หมอชิต - ไทยถอดรหัสพันธุกรรมฝีดาษลิงสำเร็จ และเร่งพัฒนาชุดตรวจสกัดการระบาด ขณะที่ หมอยง ชี้ ผู้ป่วยโรคนี้ เกือบทั้งหมดไม่ได้ติดจากลิง แต่เป็นสัตว์ฟันแทะ หนู กระรอก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถอดพันธุกรรมฝีดาษลิงสำเร็จ โดยพบว่า เคยมีการระบาดในทวีปยุโรปช่วง 2561-2562 รวมทั้งเคยพบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสครั้งนี้ จะช่วยเรื่องการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ค้นหาตำแหน่งของเชื้อไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษลิง ช่วยสกัดการระบาดไม่ให้ลุกลาม

สำหรับโรคฝีดาษลิง มีอัตราการกลายพันธุ์ต่ำกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงเมื่อเทียบกับไวรัสไข้ทรพิษ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30 เปอร์เซนต์ กรณีเป็นผู้ติดเชื้อ จะมีอาการไข้ และออกผื่นเป็นตุ่มน้ำพอง มีหนอง และต่อมาจะเริ่มตกสะเก็ด กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งส่วนใหญ่หายเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรง รักษาไม่ทันก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต

ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้ใช้รหัสพันธุกรรมที่ค้นพบ สร้างเป็นชุดตรวจจีโนมไวรัสโรคฝีดาษลิง ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม แต่มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน

ขณะที่ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคนี้วินิจฉัยเจอครั้งแรกในลิง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ติดจากลิง และเคยมีหลักฐานการติดเชื้อจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ จำพวก หนู กระรอก เช่น หนูแกมเบีย หนูแพรี่ด็อก ที่แพร่เชื้อมาสู่คน ซึ่งการเรียกฝีดาษลิง จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลิง เพราะลิงที่อยู่ในบ้านเรา จะถูกรังเกียจ ประชาชนไม่กล้าเข้าใกล้

แต่ทั้งนี้ หากเกิดการติดเชื้อ ผู้สัมผัสโรคจะต้องดูอาการ รักษาตนเอง เป็นเวลา 21 วัน ตามระยะพักตัวของเชื้อให้มากที่สุด

ด้าน กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคเกิดใหม่ เป็นโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูล ลิง และสัตว์ฟันแทะ มีโอกาสแพร่จากคนสู่คนได้น้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสใกล้ชิด ผ่านสารคัดหลั่งของระบบทางเดินหายใจผู้ป่วย, สัมผัสผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพอง หรือใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อร่วมกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ ยังคาดว่า การระบาดของโรคฝีดาษลิง ไม่น่าจะพัฒนาไปสู่โรคระบาดใหญ่เหมือนโรคโควิด-19 เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ ไม่แพร่กระจายง่ายเหมือนไวรัสโคโรนา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark