ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เทียบการแพร่เชื้อระหว่าง โควิด-19 vs ฝีดาษลิง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - สำหรับปัญหาโรคระบาดจากที่โควิด-19 กำลังอยู่ในภาวะขาลง เดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม ก็กลายเป็นว่าเกิดโรคระบาดฝีดาษลิง ที่พบมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 คน จาก 17 ประเทศแล้ว แม้ยังไม่ในไทย แต่การตื่นตัวของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ดูแลควบคุมโรคและประชาชน จะเป็นหัวใจสำคัญในการสกัดโรคนี้ไม่ให้เข้าประเทศไทย

สำหรับ โรคฝีดาษลิง ไม่ได้ติดง่าย เหมือนกับโรคโควิด-19 อีกทั้งการกลายพันธุ์ของโรคก็ยากกว่าเช่นเดียวกัน ซึ่งจากข้อมูลเชิงวิชาการพบโรคฝีดาษลิงแม้จะเกิดจากไวรัสเช่นเดียวกับโควิด-19 แต่สารพันธุกรรมต่างกัน โรคฝีดาษลิงเป็นสารพันธุกรรมคู่ หรือ DNA ส่วนโควิด-19 เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรือ RNA มีการกลายพันธุ์ไปจำนวนมากภายในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งมาถึงโอมิครอนในปัจจุบัน

ส่วน ฝีดาษลิง พบครั้งแรกในลิงทดลองเมื่อปี 2501 จนถึงวันนี้ยังพบเป็นสายพันธุ์เดิม

นอกจากนี้ความน่ากลัวของโรคก็ต่างกัน เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่มีใครบนโลกนี้รู้จักมันมาก่อน กระทั่งเกิดการระบาดในปี 2019 การค้นคว้าวัคซีนป้องกันก็อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงยารักษาก็ต้องค้นคว้ากันใหม่

ข่าวดี ลุง-ป้า อายุ 48 ปีขึ้นไป มีภูมิคุ้มกันฝีดาษลิง
แต่โรคฝีดาษลิง เป็นโรคดั้งเดิมที่แม้แต่ในประเทศในทวีปแอฟริกา ก็ยังไม่ถือว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นโรคระบาดที่พบเป็นจุด ๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งมีวัคซีนและยารักษา ป้องกันได้ด้วยวัคซีนไข้ทรพิษ แต่ที่ยากคือเนื่องจากในปัจจุบันไม่พบไข้ทรพิษแล้ว ทำให้ไม่มีการผลิตทั้งวัคซีนและยารักษา แต่ยังมีบริษัทที่มีสิทธิบัตรผลิตวัคซีนและยาอยู่ ซึ่งในปัจจุบันหุ้นก็ขึ้นไปรอกันแล้ว ส่วนประเทศไทยเลิกปลูกฝีกันไข้ทรพิษ มาตั้งแต่ปี 2517 ดังนั้นคนที่อายุต่ำกว่า 48 ปีลงมา จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แตกต่างจากคนที่เคยปลูกฝี ที่จะมีภูมิคุ้มกันยาวถึง 92 ปี เลยทีเดียว

ศูนย์จีโนมฯ ชี้ ฝีดาษลิง มีสองสายพันธุ์
เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าโรคฝีดาษลิง มี 2 สายพันธุ์หลัก สายพันธุ์คองโก ซึ่งรุนแรงกว่า โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่มีรายงานการติดต่อในสหราชอาณาจักร ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย อยู่ในขณะนี้นั้นพบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

และเมื่อเทียบการแพร่ระบาดระหว่างโรคโควิด-19 กับ ฝีดาษลิง ก็จะพบว่า ฝีดาษลิง แพร่ระบาดยากกว่า

WHO ชี้ ฝีดาษลิง คุมได้ ไม่ต้องเร่งฉีดวัคซีน
ขณะที่องค์การอนามัยโลก ก็ออกมาระบุว่า เชื้อฝีดาษลิง ที่ระบาดนอกทวีปแอฟริกา สามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมการระบาดแต่อย่างใด

ประชาชนทุกคนสามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ซึ่งจะสามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงนี้ ผ่านการสัมผัสทางผิวหนังสู่ผิวหนัง พร้อมระบุว่า บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะติดเชื้อฝีดาษลิง คือผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกับผู้ติดเชื้อ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรค หรือเปลี่ยนผ้าปูที่นอนของผู้ติดเชื้อ โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือชุดพีพีอี (PPE) ใครสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ควรกักตัวเป็นเวลา 21 วัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark