ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

จ่อออกประกาศโรคอันตรายฝีดาษลิง

เช้านี้ที่หมอชิต - ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ เริ่มคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศระบาดโรคฝีดาษลิงแล้ว หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น จะประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย

เริ่มคัดกรองด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศหลักที่มีการระบาดในประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส และจะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ในแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก อัปเดตตอนนี้มี 17 ประเทศ ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

มาตรการคัดกรองไข้ วัดที่ 37 องศาเซลเซียส และอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง ออกผื่น ตุ่มหนองผิวหนัง และปวดกล้ามเนื้อ พร้อมให้เอกสาร Health beware card ติดตามสังเกตอาการ

นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในการประชุมกรรมการวิชาการเรื่องโรคฝีดาษลิงครั้งแรก ได้หารือเรื่องปรับนิยามโรคติดต่ออันตราย 3 เกณฑ์ ได้แก่ ข้อมูลทางคลินิก อาการเข้าข่าย และไวรัสฝีดาษลิง มีระยะฟักตัว 5-21 วัน ไทยมีห้องแล็บ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งตรวจเชื้อ รู้ผลใน 24-48 ชั่วโมง และข้อมูลการระบาด แบ่งระดับความรุนแรงเตรียมไว้ แม้ยังไม่พบการติดเชื้อในไทย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกโรคฝีดาษลิง กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความระมัดระวังคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ และผู้ป่วยที่มารักษาคลินิกโรคผิวหนังและกามโรค

ส่วนการปลูกฝีในคนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 มีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษแล้ว คือคนไทยที่ได้ปลูกฝี ปีสุดท้าย ปี 2523 จะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งคนที่มีอายุ 42 ปี ขึ้นไปถือว่ามีภูมิป้องกันโรคฝีดาษลิง

ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คุมเข้มด่านตรวจสัตว์ป่า สกัดฝีดาษลิง และเร่งตรวจย้อนหลัง 1 ปี ในสัตว์นำเข้าจากแอฟริกา พร้อมขอให้ผู้ประกอบการชะลอการนำเข้าไว้ก่อน

นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานฯ ประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงาน ร่วมกับ นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ลงพื้นที่ด่านตรวจสัตว์ป่า และด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันเพื่อหาแนวทางการป้องกันโรคฝีดาษลิง

ไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง กรมอุทยานฯ ได้มีแผนสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกและย้อนกลับไป ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ มีการสำรวจและเฝ้าระวังลิงในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มโรคฝีดาษลิง ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีกด้วย เน้นความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสัตว์ป่า โรคเหล่านี้เกิดได้จากสารคัดหลั่งและการสัมผัส ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ที่นำเข้าจากแอฟริกา ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ป้องกันการติดเชื้อ และถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark