ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

มาตรฐานบั้งไฟตะไลล้าน สู่สายตาโลก จ.กาฬสินธุ์

เช้านี้ที่หมอชิต - หลายพื้นที่ในภาคอีสานยังคงทยอยจัดงานบุญบั้งไฟบูชาพญาแถนกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกำหนดในระยะเวลาหนึ่งเดือน ปีนี้บั้งไฟตะไลล้านของชาวภูไท ในจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่ยอมรับว่าสามารถทำบั้งไฟตะไลได้มาตรฐาน และปลอดภัย ติดตามจากรายงานของคุณชนะชัย แก้วผาง

บั้งไฟตะไลแสน หมุนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ในงานประเพณีบั้งไฟตะไลล้านบ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ในความเป็นจริงบั้งไฟตะไลที่นำมาจุดกว่า 50 บั้ง มีหลายขนาด ทั้งบั้งไฟหมื่น แสน และล้าน ขั้นตอนการนำบั้งไฟติดตั้งบริเวณฐานจุดสำคัญอย่างมาก ยิ่งบั้งไฟขนาดใหญ่ ยิ่งต้องใช้เวลานาน จนกว่าจะหมั่นใจว่าปลอดภัย

ผู้จัดงานจะมีขอบเขตการชมบั้งไฟให้อยู่ห่างจากฐานจุดรัศมี 300 เมตร ส่วนค่ายบั้งไฟ รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชนจะมีเนินดิน ลักษณะเป็นบังเกอร์ให้วิ่งเข้ามาหลบ ทันทีที่คนให้สัญญาณธงสีเขียว นั่นหมายความว่า บั้งไฟพร้อมจุดแล้ว

ยิ่งเป็นบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่างบั้งไฟสิบล้าน ก็ยิ่งต้องใช้ช่างทำบั้งไฟที่มีประสบการณ์มานานหลายปี เพื่อความปลอดภัย

ลักษณะบั้งไฟของชาวกุดหว้า ตัวบั้งไฟจะบรรจุเชื้อเพลิง หรือดินประสิว ยาว 3-6 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาด ใช้ไม้ไผ่สานล้อมรอบบั้งไฟเป็นวงกลม และที่สำคัญบั้งไฟตะไลทุกบั้งต้องติดร่มป้องกันอันตราย โดยชาวบ้านจะใช้กาบกล้วยห่อหุ้มมัดด้วยเชือกฟาง พอเกิดความร้อนที่บั้งเหล็กก็จะไหม้เชือกฟาง ปล่อยร่มให้กาง

ค่ายบั้งไฟค่ายนี้ เลือกนำร่มของบั้งไฟล้านมาใส่บั้งไฟแสนเป็นปีแรก เพื่อทดสอบว่าจะทำให้บั้งไฟตะไลลอยอยู่บนฟ้าได้นานกว่าเดิมขึ้นหรือไม่

ไม่นานบั้งไฟของพวกเขาก็หมุนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ไม่น่าเชื่อว่าการทดลองของพวกเขาสำเร็จ เพราะร่มที่ใหญ่กว่าเดิม ทำให้บั้งไฟตะไลแสนอยู่บนฟ้าได้นานถึง 1,045 วินาที ทำลายสถิติบั้งไฟตะไลแสนที่เคยจุดทั้งหมด และได้รางวัลชนะเลิศ โดยทุกปีกรรมการจัดงานจะตรวจเข้มงวดมาตรฐานของบั้งไฟตะไล หากไม่ติดตั้งร่มจะไม่อนุญาตให้จุดเป็นเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark