ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : กางไทม์ไลน์การเมือง ยังมีหลายเรื่องต้องระวัง

ข่าวภาคค่ำ - การเมืองสัปดาห์นี้ต้องบอกว่าระอุจริง ๆ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตคนกันเองของพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลต่อไทม์ไลน์การเมือง สะเทือนความมั่นคงของรัฐบาลอย่างไร คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ หาคำตอบมาให้ ติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

ไม่ได้มีแค่ 16 เสียง คือคำประกาศกร้าว ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ที่แตกตัวออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ หลังขัดแย้งภายในอย่างหนัก กระทั่งไม่สามารถเดินบนเส้นทางการเมืองเดียวกันได้อีกต่อไป แม้แต่เยื่อใยสุดท้าย ผ่านพลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา สายตรงบิ๊กป้อม ก็ขาดสะบั้นลงไปแล้ว เมื่อกรรมการบริหารพรรค 15 คนพร้อมใจเตรียมลาออก กดดันจนพล.อ.วิชญ์ ต้องชิงไขก๊อกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งกับร้อยเอกธรรมนัส ปมหาจุดร่วมไม่ได้ระหว่างสนับสนุน กับไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี

โลกใบใหม่ของร้อยเอกธรรมนัส ต่อจากนี้จึงกลายเป็นพลังเหนือการควบคุม ที่ถูกมองว่า อาจพลิกกลับมาโค่นล้มรัฐบาลได้

เมื่อเช็กเสียงรัฐบาลหลังร้อยเอกธรรมนัส ขอแยกทางกับพลังประชารัฐ พบว่าในปัจจุบันกุมคะแนนได้ที่ 252 เสียง แม้ดูเหมือนไม่ปริ่มน้ำ เพราะเกินครึ่งจากจำนวน สส.ที่มีอยู่ 14 เสียง แต่ก็นอนใจไม่ได้ เพราะยังมีอิทธิฤทธิ์พรรคเล็กภายใต้กลุ่ม 16 ที่มิอาจนอนใจได้ว่า คะแนนจะเกิดการผันผวนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้ถึงเวลาที่สภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งฝ่ายค้านหวังดึงคะแนนเสียงจากฝั่งรัฐบาล ช่วยคว่ำกฎหมายสำคัญนี้

งานหนักจึงไปตกที่วิปรัฐบาล ต้องประสานสิบทิศ ยืนระยะคะแนนเสียงสนับสนุนให้ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะหากกฎหมายงบประมาณถูกคว่ำ นั่นหมายถึง ทางเดินที่รัฐบาลไม่อยากเลือกอาจมาถึงเร็วกว่ากำหนด คือ การยุบสภา หรือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก แต่วิปรัฐบาลยังมั่นใจ "เอาอยู่"

ขณะที่ร้อยเอกธรรมนัส แสดงจุดยืนชัด พร้อมพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาล โดยการตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาล ขึ้นอยู่กับการกระทำของรัฐบาล

เหลืออีกเพียงแค่ 2 วัน สภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาทแล้ว รัฐบาลจะกุมเสียงไม่ให้แตกแถวได้จริงหรือไม่ เศรษฐกิจไทยจะเป็นตัวแปร พลิกกระดานการเมืองหรือเปล่า จะได้รู้กันในวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันลง
คะแนนรับหลักการในวาระแรก และแม้จะผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ยังมีศึกใหญ่รออยู่ในเดือนสิงหาคม ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark