ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ถอดบทเรียน เจอ-จ่าย-จบ ล้มธุรกิจประกันภัย

เจาะประเด็นข่าว 7HD - พิษโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในวงกว้างเท่านั้น แต่ยังสะเทือนธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ จากกรมธรรม์ "เจอจ่ายจบ" ที่ทำให้ 4 บริษัท ต้องปิดกิจการไปเรียบร้อยแล้ว และยังมีอีก 1 บริษัท ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ตีตรงจุด ชวนท่านผู้ชมถอดบทเรียนเรื่องนี้กัน

4 บริษัท ที่ต้องปิดกิจการไป ประกอบด้วย เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และ ไทยประกันภัย โดยล่าสุดยังมีบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ที่กำลังดิ้นหนีตาย ด้วยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยระส่ำ เกิดจากผลกระทบของกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ ที่บริษัทประกันภัยดำเนินการกันมาก เพราะในปี 2563 การติดเชื้อในประเทศยังไม่รุนแรง และได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากเบี้ยประกันต่ำ แต่ผลตอบแทนสูง หากตรวจพบว่าติดเชื้อ จ่ายทันที

โดยยอดสะสมการเคลมประกันภัยตั้งแต่ปี 2563 - 15 มีนาคม 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 51,800 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดเคลมเจอจ่ายจบ สูงถึง 42,000 ล้านบาท คิดเป็น 81.08% ของยอดเคลมประกันทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 9,800 ล้านบาท เป็นยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ คิดเป็น 18.92% จากยอดเคลมทั้งหมด

สำหรับการประกันภัยโควิด-19 ทั้งระบบ มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยเกี่ยวกับโควิด-19 สะสมถึง 20.55 ล้านฉบับ มีเบี้ยประกันภัยสะสมอยู่ที่ 10,900 ล้านบาท

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ผู้เอาประกันได้รับเงินเคลมล่าช้าเท่านั้น ยังสะเทือนถึงกองทุนประกันวินาศภัย ที่ต้องแบกรับภาระจ่ายเงินดูแลลูกหนี้ 4 บริษัท ที่ปิดกิจการไปด้วย โดยมีการประเมินว่าอาจต้องกู้เงินใส่กองทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเคลมที่ค้างอยู่

ด้าน กองทุนประกันวินาศภัย เผยสถานะกองทุนฯ ขณะนี้มีภาระหนี้ที่เกิดจากบริษัทประกันภัยทั้งที่ปิดตัวไปก่อนหน้า และปิดตัวเพราะพิษ เจอจ่ายจบ รวม 8 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ หรือผู้เอาประกันราว 600,000 คน
 
ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 300,000 คน ที่เกิดจากโควิด-19 กับ 4 บริษัทประกันภัยที่ปิดตัว คิดเป็นวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 80,000 บาท ท่ามกลางสถานะการเงินของกองทุนฯ ที่ยังเหลืออยู่ราว 6,000 ล้านบาท จึงหารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะไว้แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับเจ้าหนี้ หรือผู้เอาประกัน

ขณะที่คนในแวดวงประกันภัย ชี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า นอกจากจะเกิดจากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดของผู้บริหารแต่ละบริษัทแล้ว หลักเกณฑ์การอนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันเสี่ยง ควรมีการยกเครื่องรื้อกันใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม และ คปภ. เองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความสั่นคลอนของธุรกิจประกันภัยที่เกิดขึ้นด้วย

ยังมีคำแนะนำเพิ่มว่า เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอย ภาคราชการและเอกชนต้องมีการทบทวนกฎเกณฑ์การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย และต้องประเมินบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะฐานะการเงินของบริษัท ที่สามารถดูแลผู้เอาประกันได้ และแม้วงการนี้จะเกิดวิกฤต แต่ก็ยังนับว่ามีโอกาสใหม่เพิ่ม เพราะประชาชนหันมาซื้อประกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ฐานลูกค้ารายใหม่โดยมีต้นทุนลดลง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark