ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ชาวบ้านร้อง ยูเทิร์นอันตราย เสียหลักนับไม่ถ้วน

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด ปักหมุดที่ทุกข์ชาวบ้าน ร้องเรียนเข้ามายังช่อง 7HD ว่าบริเวณจุดกลับรถที่สถานีรถไฟบางบำหรุ เขตบางพลัด มีรอยต่อที่ไม่สนิทกัน เป็นเหตุให้มีชาวบ้านที่ขี่รถจักรยานยนต์ ประสบอุบัติเหตุมาแล้วนับไม่ถ้วน บางรายถึงขั้นเกือบพิการ แต่สุดท้ายไร้หน่วยงานไหนแสดงความรับผิดชอบ ติดตามเรื่องนี้กัน

นี่คือจุดกลับรถบริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ บางบำหรุ บนทางพิเศษสายศรีรัช วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่ถนนสิรินธร มีชาวบ้านร้องเรียนมา บอกว่าจุดนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนับไม่ถ้วน เพราะช่วงทางโค้งมีรอยต่อของถนน ระหว่างถนนของเกือกม้ายูเทิร์นและถนนของทางด่วนที่มาเชื่อมกัน แต่เชื่อมกันไม่สนิท และรอยต่อเป็นโลหะ โดยระยะห่างของช่องถนนกว้างถึง 2 นิ้ว หรือประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นร่องพอดีสำหรับล้อรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เมื่อขับมาด้วยความเร็วแล้วตกลงบริเวณร่องดังกล่าว ก็เป็นเหตุทำให้รถเสียหลัก หลายรายรถพลิกคว่ำกลางทางและไถลลงไปหลายสิบเมตร เพราะเป็นทางลงเนินสูง อีกทั้งช่องทางด้านซ้ายยังเป็นทางลงของช่องทางด่วน หากโชคร้ายก็อาจจะทำให้รถที่จะลงทางด่วนซึ่งขับมาด้วยความเร็วประสบอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้

นายสุทธิพงษ์ เชษฐสิงห์ หนึ่งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณนี้ บอกว่า เหตุเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว โดยการขี่รถจักรยานยนต์ผ่านร่องถนนและเกิดการลื่นจนเสียการทรงตัว และเสียหลักล้มในที่สุด ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และตามตัวเล็กน้อย และต้องรักษาตัวเองโดยไม่มีใครรับผิดชอบ เคยติดต่อไปยังการทางพิเศษแล้ว ได้รับการติดต่อกลับมาสอบถามเหตุการณ์ แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ อีกทั้งถนนก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งตนมาเห็นชาวบ้านคนอื่นประสบอุบัติเหตุแบบเดียวกัน จึงทนไม่ไหว อยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ และปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนด้วย

จากการลงพื้นที่วันนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับผู้ขี่รถจักรยานยนต์ หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จุดนี้เกิดอุบัติเหตุแทบจะวันเว้นวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตก หรือผู้ขับขี่ที่ไม่ใช่คนพื้นที่โดยเฉพาะไรเดอร์รับส่งอาหารเคยเสียหลักกันเป็นประจำ วอนขอให้หน่วยงานเข้ามาแก้ไขที เพราะชาวบ้านต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุนี้มาเกือบ 3 ปี แล้ว

พาคุณผู้ชมย้อนมาดูที่มาที่ไปของสะพานกลับรถแห่งนี้อีกครั้ง เดิมทีถนนเส้นนี้คือถนนเลียบทางรถไฟบางบำหรุ ภายหลังมีการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟบางบำหรุ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ทำให้ทางกลับรถเดิมหายไป จากนั้นศาลปกครองกลางจึงได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟบริเวณถนนเทอดพระเกียรติกับถนนสิรินธร

โดยให้สร้างเป็นสะพานกลับรถ 2 แห่ง ซึ่งทางการพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างฝั่งตะวันออก 1 แห่ง และการรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างฝั่งตะวันตก 1 แห่ง จุดที่ชาวบ้านร้องเรียน คือฝั่งตะวันออก ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษ เมื่อเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม ปี 2561 ก็ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 และต่อมาได้ส่งมอบให้อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวงชนบท

จุดประสงค์ของการสร้างทางกลับรถแห่งนี้คืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและลดการเกิดอุบัติเหตุ แต่ระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งชาวบ้านที่เป็นผู้ขับขี่รถ และเจ้าหน้าที่ทั้งกู้ภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างยอมรับว่าได้รับแจ้งอุบัติเหตุเป็นประจำ แม้จะยังไม่ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต แต่ก็นับว่าเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมาก

หลังจากที่ชาวบ้านร้องเรียนไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท ได้หารือแนวทางแก้ไข โดยการนำวัสดุพิเศษคือยางมะตอยผสมหิน เข้าไปเทอุดรอยต่อที่ห่างกันให้เต็มร่องเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ

แต่ความจริงแล้วการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ทีมข่าวได้พูดคุยกับ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานจัดการด้านภัยพิบัติและตึกถล่ม สภาวิศวกร มองว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นร่องที่ชั้นผิวถนน แต่เป็นร่องที่เกิดจากโครงสร้างถนนสองเส้นมาขนานกัน ซึ่งหากมองในแง่วิศวกรรมถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะการต่อเติมโครงสร้างต่างๆ จะต้องแยกโครงสร้างออกจากกัน เพราะโครงสร้างแต่ละอย่างมีการทรุดตัวต่างกัน ส่วนรอยต่อนั้นมีไว้เพื่อรองรับการยืดหรือหดตัวของคอนกรีต หากอยู่ในแนวขวางจะไม่มีค่อยมีปัญหา แต่กรณีนี้ยอมรับว่าไม่ค่อยพบเห็น

ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณดังกล่าว หลังจากเห็นว่ามีการแก้ไขแล้วสบายใจขึ้นมา แต่ยังห่วงว่าอีกไม่นานยางมะตอยก็จะยุบหายไปอยู่ดี และความจริงก็ควรจะแก้ไขตั้งนานแล้ว ไม่ใช่รอให้เกิดอุบัติเหตุหรือเป็นข่าวก่อนถึงตามแก้ไข แบบนี้เท่ากับไม่ได้ห่วงความปลอดภัยของประชาชน

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่ ถ้ายังเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ต่อ หน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะต้องหารือให้เป็นวาระสำคัญ เพราะทุก ๆ ครั้งที่ยางมะตอยยุบตัวลงไปนั่นหมายความว่าความปลอดภัยของประชาชนก็ลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark