ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เทียบคดีหมอผัสพร-แตงโม ฟ้องเอง เหมือน-ต่าง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลังจากคุณแม่ภนิดา ปักใจเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของแตงโม มาจากการฆาตกรรม สวนทางกับสำนวนที่ตำรวจส่งให้อัยการฟ้อง 6 ผู้ต้องหาว่าเป็นการประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก็เริ่มมีคำถามถึงการตามหาพยานหลักฐานที่จะส่งเพิ่มให้อัยการ เพื่อพลิกข้อหาเป็นฆาตกรรม จะทำได้แค่ไหน หากต้องฟ้องต่อศาลเอง จะมีขั้นตอนแบบไหน โดยมีการเทียบไปถึงคดีหมอผัสพร เรื่องนี้มีความเหมือน ความต่างกันอย่างไร เราไปหาคำตอบมาให้แล้ว

เชื่อว่าท่านผู้ชมยังจำคดีโด่งดังเมื่อ 21 ปีก่อนได้ดี กรณีการเสียชีวิตของคุณหมอผัสพร บุญเกษมสันติ เมื่อต้นปี 2544 มีหมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ สามีตกเป็นผู้ต้องสงสัยลงมือฆ่า และอำพรางศพ แต่ในชั้นต้นอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะไร้ประจักษ์พยาน ยืนยัน หมอวิสุทธิ์คือฆาตกร และไม่มีศพผู้ตาย แม้จะพบชิ้นเนื้อมนุษย์ที่ตรวจดีเอ็นเอ ยืนยันเป็นของผู้ตาย

ทำให้คุณพ่อของหมอผัสพร ต้องยื่นฟ้องเอง ก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งให้ฟ้องคดีนี้ ส่งอัยการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546 ให้ประหารชีวิต หมอวิสุทธิ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ ประหารชีวิต ปิดฉากตำนานพิศวาสฆาตกรรม ที่ต่อสู้กันนานกว่า 6 ปี ซึ่งในปัจจุบันหมอวิสุทธิ์ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 หลังถูกจองจำเป็นระยะเวลา 10 ปี 9 เดือน

คดีนี้ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง หลังคุณแม่ภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม ตั้งทีมทนายจากพรรคไทยศรีวิไลย์ ของ สส.เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ มาทวงความยุติธรรมให้ลูกสาว เพราะเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากฆาตกรรมอำพราง แต่เส้นทางดำเนินคดีดูเหมือนจะไม่ง่าย เนื่องจากตำรวจสรุปสำนวนเป็นการประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งล่าสุดอัยการจะมีคำสั่งเลื่อนการฟ้อง 6 ผู้ต้องหาไปเป็นปลายเดือนมิถุนายน ระหว่างทางนี้จึงต้องเร่งหาพยานหลักฐานนำส่งอัยการเพื่อพลิกคดีเป็นฆาตกรรม ซึ่งหากจะฟ้องคดีเองตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ ก็มีหลายเรื่องที่ต้องเตรียมการ 

สำหรับการฟ้องคดีเองของคุณแม่ภนิดาที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างจากคดีหมอผัสพร คือ มีความเหมือนตรงที่เป็นคดีอาญา ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย และญาติเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ก็มีความต่างในสาระสำคัญทางกฎหมายคือ คดีหมอผัสพร พนักงานสอบสวนตั้งสำนวนแต่แรกว่า เป็นการฆาตกรรมอำพรางศพ กำหนดชัดใครคือฆาตกร ส่วนคดีแตงโม พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงถือเป็นความยากของทีมทนายความคุณแม่ ในการทำคำฟ้องและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ศาลเชื่อในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า เกิดการฆาตกรรมจริง จนถึงขั้นมีการรับคำร้องไว้พิจารณา

ยังมีคำเตือนจากคุณวีรศักดิ์ด้วยว่า หากศาลพิพากษายกฟ้องในคดีที่คุณแม่ภนิดาฟ้องเอง อาจส่งผลกระทบต่อคดีที่อัยการกำลังดำเนินการอยู่ พร้อมกับแนะนำผู้ติดตามคดีแตงโมว่า อย่าด่วนตัดสิน ต้องฟังความอย่างรอบด้าน ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark