ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ความคืบหน้า ชาวโรฮีนจา 59 คน ถูกปล่อยเกาะ จ.สตูล

เช้านี้ที่หมอชิต - ชาวโรฮีนจา 59 คน ที่ถูกนำมาปล่อยเกาะให้อดอาหาร กว่าครึ่งมีบัตร UNHCR ยืนยันจ่ายค่านำพาหัวละ 40,000 บาท หวังไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่มาเลเซีย ขณะที่ตำรวจเร่งสาง มีคนไทยร่วมขบวนการด้วยหรือไม่ ติดตามจากรายงานของคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

นี่เป็นสภาพล่าสุดของชาวต่างชาติ ที่ถูกปล่อยทิ้งที่เกาะดง พื้นที่จังหวัดสตูล พวกเขายังมีสภาพอิดโรย แม้จะได้รับน้ำและอาหารจากเจ้าหน้าที่ ก่อนนำตัวมาสอบสวนที่กองร้อย ตชด. 436 สาธารณสุขจังหวัดสตูล บอกว่า ได้ให้ยาฆ่าเชื้อและป้องกันโรคติดต่อ ที่อาจมากับคนเหล่านี้ไปก่อน และให้เว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกัน

หนึ่งในเหยื่อที่ถูกทิ้ง บอกว่า พวกเขาเดินทางมาจาก ค๊อก บาร์ซ่า ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ โดยญาติในมาเลเซีย ได้จ่ายค่านายหน้า เป็นค่านำพาออกจากค่ายผู้ลี้ภัย เป็นเงิน 1 หลักธาก้า หรือประมาณ 40,000 บาท โดยมีเป้าหมายไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีญาติรออยู่ และเกินกว่าครึ่งที่มาครั้งนี้ มีบัตร UNHCR ซึ่งหลายคนรอนานกว่า 2 ปี ที่ค่ายอพยพ แต่ก็ไม่ได้ไปประเทศที่ 3 อย่างที่หวัง จึงต้องหลบหนีออกมา

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า คนกลุ่มนี้มามากกว่า 180 คน ด้วยเรือ 3 ลำ แต่ 2 ลำแรก น่าจะถูกจับก่อนเข้ามาเลเซีย ลำนี้จึงเบนเข็มมาที่ประเทศไทย ก่อนปล่อยทิ้งคนเหล่านี้ไว้ที่เกาะร่วมสัปดาห์ โดยไม่มีข้าวและน้ำ

ตรวจสอบเบื้องต้น พบโทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง ซึ่งต้องนำมาแกะรอยว่า มีการประสานงานระหว่างหลบหนีลงเรือกับใครบ้าง และมีคนไทยเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ หากพบเข้าข่ายค้ามนุษย์ ก็ต้องเยียวยา แต่ถ้าไม่ ก็ต้องผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทางที่มา

ทั้งนี้ กลุ่ม NGO ตั้งข้อสังเกตว่า การหลบหนีในลักษณะนี้ ต้องมีคนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย และอาจมีระบบนายหน้าในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องขยายผลอีกครั้ง โดยเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เพราะคนเหล่านี้ต้องใช้เวลารอนแรมในเรือนานกว่า 2 เดือนถึงจะเข้าฝั่ง และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการแวะพัก หรือเติมน้ำมันที่ไหน

และจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการจับกุมกลุ่มคนต่างชาติ โดยเฉพาะโรฮีนจาแล้ว 4 ครั้ง รวม 353 คน เป็นการจับกุม 3 ครั้ง ในรัฐเปรัค รัฐเคดาร์ และเกาะลังกาวี และล่าสุด คือในพื้นที่จังหวัดสตูล นี่กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า จะต้องนำไปพูดคุยในเวทีอาเซียน เพื่อหามาตรการในการรองรับปัญหาไร้สัญชาติของคนเหล่านี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark