ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ตร.ไซเบอร์ เผย คดีฉ้อโกงเยอะ ตรวจสอบยาก แต่ตรวจสอบได้

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด มาส่องคดีฉ้อโกงผ่านโลกออนไลน์ ทำไมจับเท่าไหร่ก็จับไม่หมด มีปัญหาอุปสรรคอะไร ไปติดตามกัน

จากคดีฉ้อโกงที่ร้องเรียนเข้ามาที่ช่อง 7HD อย่างการถูก เพจ Ryuu Toys cospay kamen raider Thailand หลอกพรีออร์เดอร์สินค้าประเภทโมเดลของเล่นจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้หลงเชื่อทักเขาไปขอพรีออร์เดอร์จำนวนมาก ซึ่งจากบทสนทนาทำให้ทราบว่า มิจฉาชีพที่สวมรอยเป็นแอดมิน จะหลอกพรีออร์เดอร์สินค้าโดยระบุว่า ราคาถูกกว่าที่ประเทศไทย และเป็นของหายาก ที่สำคัญมิจฉาชีพจะชวนผู้เสียหายพูดคุยเพื่อสร้างความไว้ใจ ถามเรื่องส่วนตัวอย่างการเรียนหนังสือ หรือการทำงาน และแสดงความรู้เรื่องโมเดลของเล่นที่ผู้เสียหายสนใจ ก่อนจะส่งภาพประกอบให้ เมื่อผู้เสียหายสนใจก็จะโอนเงินให้ ซึ่งพบว่าปลายทางของบัญชีเป็นของคนชื่อ ภานุวิชณ์ ดาดอก และทุก ๆ บัญชีที่ถูกหลอกก็จะโอนเงินเข้าบัญชีนี้

ขณะเจ้าของเพจเฟซบุ๊กตัวจริงกลับออกมาเปิดเผยว่า ตัวเองเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กเพจนี้ แต่ให้คนรู้จักเช่าไปเมื่อนานมาแล้ว ส่วนตัวเองไม่ทราบว่าเพจถูกนำมาใช้ทำเรื่องผิดกฎหมาย

ส่วนทางคดี ผู้เสียหายทั้ง 2 คน ที่ร้องทุกข์เข้ามา แจ้งความไว้ที่ สน.บางนา และ สน.ดอนเมือง และยังมีอีกหลายคนที่แจ้งความไว้ต่างพื้นที่ พบว่าทีมข่าวพยายามโทรเพื่อไปสอบถามรายละเอียดทางคดีกับ สน.ท้องที่ แต่พบว่าตำรวจมีอุปสรรคใหญ่คือมีคดีเข้ามาจำนวนมาก และไม่สามารถตรวจสอบให้ได้ ต้องให้ผู้เสียหายเข้ามาพบตำรวจเท่านั้น

เรื่องนี้ พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจสอบคดีฉ้อโกงออนไลน์ คือ เรื่องฉ้อโกงส่วนใหญ่จะกระจายตามท้องที่ ซึ่งมีมูลค่าเสียหายไม่มาก ซึ่งหากระดับพื้นที่ติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูล สอท. มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้อยู่แล้ว เพียงแค่ประสานมา ที่สำคัญปัจจุบัน สอท. มีการทำเอ็มโอยูร่วมกับธนาคารต่าง ๆ ในการเข้าถึงข้อมูลเจ้าของบัญชีแล้ว เพื่อให้ง่ายในการสืบสวนทางคดี แต่ประชาชนก็ต้องมีวัคซีนไซเบอร์ด้วย คือการรู้จักตรวจสอบ หรือรีเช็กเบื้องต้น ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ แต่เมื่อเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นของต่างประเทศ การเข้าถึงข้อมูลอาจทำได้ยาก แต่ยืนยันว่า สอท. สามารถตรวจสอบได้

นอกจากประเด็นการติดตามคดีแล้ว ล่าสุดมีแนวโน้มทางกฎหมายที่จะมาช่วยเหลือตำรวจ เพราะมีการพูดคุยกับประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับการฉ้อโกงที่เกิดขึ้น เพราะหลายครั้งที่คดีฉ้อโกงจะไปกระจายอยู่ตามท้องถิ่น ความเสียหายมูลค่าหลักร้อย แต่หาก สอท. ตรวจสอบพบว่ามีความเชื่อมโยงกัน มีผู้เสียหายจำนวนมาก แนวทางดำเนินคดีอาจกลายเป็นข้อหาฉ้อโกงประชาชนแทน ซึ่งประธานศาลฎีกาก็ค่อนข้างเห็นด้วย

ขณะที่ สถิติคดีฉ้อโกงออนไลน์ ที่ถูกรวบรวมไว้โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. พบว่ามีคดีออนไลน์ราว 32,00 เรื่อง ฉ้อโกงออนไลน์ 13,000 เรื่อง ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 11,000 เรื่อง แบ่งเป็น ซื้อสินค้าแต่ไม่ตรงตามโฆษณา 400 กว่าเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงด้านการเงิน 17,000 เรื่อง ข่าวปลอม 700 เรื่อง ล่วงละเมิดทางเพศ กว่า 200 เรื่อง การพนันกว่า 60 เรื่อง ส่วนผลการอายัดบัญชี อายัดไปกว่า 15,000 บัญชี ยอดเงินสูงนับล้านบาท อายัดทันราว 80 ล้านบาท  และพบว่าเป็นคดีที่เชื่อมโยงกันกว่า 9,000 คดี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark