ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

รพ.ศูนย์บุรีรัมย์ แจง ยืนยันไม่มีวีไอพี ลัดคิวผ่าตัด น้องต้นน้ำ ไส้ติ่งแตกเสียชีวิต

ข่าวภูมิภาค 7 มิถุนายน 2565 - เช้าข่าว 7 สี - ผู้ปกครองของเด็กชาย อายุ 12 ขวบ ยังคาใจและเชื่อว่า ลูกชายที่รอการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบถูกลัดคิวผ่าตัด จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แม้ทางโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ จะออกมายืนยันว่าไม่มีคนไข้วีไอพีแล้วก็ตาม

เคสนี้เกิดขึ้นกับ น้องต้นน้ำ อายุ 12 ขวบ ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.1 เสียชีวิตจากอาการไส้ติ่งแตก และติดเชื้อในกระแสเลือด ขณะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เพื่อรอการผ่าตัด ทำให้พ่อและแม่ ติดใจและออกมาร้องขอความเป็นธรรม 

พ่อน้องต้นน้ำ เล่าว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกชายมีอาการปวดท้อง จึงพาไปที่โรงพยาบาลพุทไธสง แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นไส้ติ่งอักเสบ และทำเรื่องส่งตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ประมาณเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่เวรเปลได้เข็นลูกชายเข้าไปในห้องผ่าตัด โดยที่ตัวเองนั่งรออยู่ด้านนอก แต่ไม่นาน เจ้าหน้าที่เวรเปลคนเดิมได้เข็นลูกชายออกมา จึงรู้สึกแปลกใจและเข้าไปสอบถาม ก็ได้รับคำตอบว่า แพทย์มีคนไข้พิเศษ 2 คน ซึ่งประโยคนี้เองที่ทำให้พ่อติดใจ กระทั่งน้องต้นน้ำ เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 30 พฤษภาคม และในคืนวันที่ 31 น้องต้นน้ำ ก็เสียชีวิตจากอาการไส้ติ่งแตก และติดเชื้อในกระแสเลือด

นายแพทย์รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ออกมาชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า น้องต้นน้ำ มีอาการปวดท้องน้อยข้างขวามาประมาณ 1 วัน ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง และส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ แพทย์จึงผ่าตัดในช่วงเย็นวันที่ 29 พฤษภาคม แต่อาการของน้องเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นแรงมากขึ้น จึงต้องให้น้ำเกลือ ประกอบกับผู้ป่วยมีน้ำหนัก 83 กิโลกรัม อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก

ขณะนั้น ห้องผ่าตัดซึ่งมี 3 ห้อง และมีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ทั้ง 3 ห้อง ห้องแรกมี 2 คน ผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า อีกคนที่รอคิว เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่มีแผลเปิด แพทย์ต้องเร่งผ่าตัด กว่าจะเสร็จก็ใกล้เที่ยงคืน และห้องสุดท้าย ต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว ทั้ง 3 ห้อง เป็นเคสผู้ป่วยหนักที่มารอคิวอยู่ก่อนแล้ว กรณีของน้องต้นน้ำ น่าจะเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างเจ้าหน้าที่เวรเปลกับทีมแพทย์ ทำให้เข็นเปลเข้าไป ทั้ง ๆ ที่ยังมีเคสผ่าตัดอยู่ และจากการประเมินของแพทย์ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้ น้องต้นน้ำ รออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้กลับไปที่ห้องก่อน

ประเด็นที่ผู้ปกครองติดใจว่ามีเคสวีไอพี แทรกคิวหรือไม่ จากการสอบสวนแล้ว ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ทุกเคสมีหลักฐานประกอบและเป็นเคสที่มีความเร่งด่วนและมารับบริการก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลฯ ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องก่อนเป็นอันดับแรก ยอมรับว่า เป็นการรักษาที่ล่าช้า และทางผู้บริหาร จะเข้าไปขอขมาและดูเรื่องของมาตรการเยียวยาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข ว่า จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark