ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ย้อนเส้นทาง 5 ปี คดีอลเวง สลากฯ 30 ล้านบาท

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ย้อนรอยกันคดีหวย 30 ล้านอลเวง ต่อสู้แย่งชิงความเป็นเจ้าของนานร่วม 5 ปี ถึง 3 ศาล ซึ่งคดีนี้เริ่มต้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ไปไขความจริงการสู้ศึกชิงเงินก้อนโตพร้อม ๆ กัน

ทันทีที่ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เลขที่ออกรางวัลที่ 1 คือ 533726 จบไป แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของฝั่งนักเสี่ยงโชคที่มีเรื่องวุ่น ๆ เกิดขึ้นจนเป็นดรามา

เพราะเปิดศึกแย่งชิงเงินรางวัลมูลค่า 30 ล้านบาท จากสลากฯ 5 ฉบับ ขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ร้อยตำรวจโท จรูญ วิมูล หรือ หมวดจรูญ อดีตข้าราชการตำรวจวัยเกษียณ สภ.บ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ตกเป็นจำเลย และ ครูปรีชา ใคร่ครวญ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในฐานะโจทก์ ซึ่งแสดงตัวเป็นเจ้าของสลากเจ้าปัญหาดังกล่าว เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ว่า สลากฯ รางวัลที่ 1 จำนวน 5 ฉบับ ของตนเองหายไป

นำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ จนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานสลากฯ แจ้งตำรวจว่ามีคนนำสลากฯ มาขึ้นมารางวัลที่ 1 แล้ว คือ หมวดจรูญ ตำรวจจึงเชิญทั้ง 2 ฝ่าย เจรจากันครั้งแรกแต่ตกลงกันไม่ได้

เป็นเหตุให้ทั้ง 2 ฝ่ายวิ่งโร่พึ่งกระบวนการยุติธรรม โดย หมวดจรูญ พร้อมทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 เพื่อเอาผิดแม่ค้าขายสลากเกินราคา พร้อมแจ้งดำเนินคดีกับครูปรีชา ฐานแจ้งความเท็จ

และเข้าร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการทำงานของนายตำรวจระดับสูง โดยอ้างว่าถูกเรียกเข้าไปเจรจาให้แบ่งกันคนครึ่ง หรือ 15 ล้านบาท ทำให้เกิดการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งการลงพื้นที่ชี้จุดซื้อสลากเจ้าปัญหา, การตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และลายนิ้วมือแฝง เทียบกับสลากฯ

จนวันที่ 19 มกราคม 2561 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แถลงผลตรวจสอบ พบมีเพียงรอยนิ้วมือแฝงของหมวดจรูญบนสลากฯ ส่วนผลดีเอ็นเอพิสูจน์ไม่ได้ ขณะที่ ครูปรีชาก็เดินหน้าสู้ต่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยอ้างว่ามีหลักฐานเด็ด

ส่วนคณะทำงานคลี่คลายคดี เผยข้อมูลนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของสลากฯ ยังต้องพิสูจน์หลักฐานอื่นก่อน นำไปสู่การสอบปากคำพยาน 37 ปาก ในช่วงตลอดกว่า 2 เดือน

กระทั่งวันที่ 31 มกราคม 2561 ตำรวจสรุปข้อเท็จจริง ว่า ครูปรีชา เป็นเจ้าของสลากฯ 30 ล้านบาท และเรียกหมวดจรูญรับทราบข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ ขณะที่ หมวดจรูญ ก็เดินหน้าพร้อมชนต่อ จนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ให้ย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ในขณะนั้น

โดย ผบ.ตร. สั่งการให้โอนคดีดังกล่าวมาไว้ยังกองปราบปราม และวันรุ่งขึ้น หมวดจรูญ ก็เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรม หลังถูกตำรวจภูธรภาค 7 แจ้งข้อหาคดียักยอกทรัพย์ และเมื่อคดีตกอยู่ในมือตำรวจกองปราบปราม เดินหน้าสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคณะทำงานดูแลคดี คือ

คดีหมวดจรูญกล่าวหาครูปรีชา และนางรัตนาพร สุภาทิพย์ หรือ เจ๊บ้าบิ่น ข้อหาแจ้งความเท็จ และกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา

คดีที่ 2 เอาผิดกับ นายฐนุกร เหลืองใหม่เอี่ยม หรือ นายแผน พนักงานขับรถธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพยานฝั่งครูปรีชา ข้อหาให้การเท็จ กรณีสมอ้างว่าเห็นหมวดจรูญ เป็นผู้เก็บสลากเจ้าปัญหาได้

คดีที่ 3 คือการเอาผิดกับ พลตำรวจตรี สุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ในขณะนั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การในสำนวนคดีหวย 30 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 คดี ได้ส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา ก่อนที่คณะทำงานของอัยการมีความเห็นให้คืนสำนวนกลับมาให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ส่งให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณาชี้มูลความผิด ก่อนยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณา แทน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของครูปรีชา และ เจ๊บ้าบิ่น เป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกันกับคดีของ พลตำรวจตรี สุทธิ

ต่อมา ป.ป.ช. มีมติให้ส่งสำนวนคดีหวยอลเวง คืนให้กับตำรวจดำเนินการต่อ โดยอ้างว่าดำเนินการมาเกือบเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยแบ่งเป็นคดีเอาผิดกับ พลตำรวจตรี สุทธิ แก้ไขสำนวนหวย 30 ล้านบาท ส่งกลับให้พนักงานสอบสวน บก.ปปป. เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนคดีครูปรีชา เจ๊บ้าบิ่น และคดีนายแผน พยานเท็จ ส่งกลับให้ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามรับผิดชอบตามเดิม ซึ่งล่าสุดคดีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 และอีกส่วนส่งศาลอาญาดำเนินการต่อ

ส่วนครูปรีชาก็ยื่นฟ้องแพ่งเพื่อขอให้มีคำสั่งอายัดเงินในบุญชีของหมวดจรูญที่เหลืออยู่เอาไว้ทั้งหมด พร้อมกับยื่นฟ้องคดีอาญากับหมวดจรูญอีก 1 คดี ข้อหายักยอกทรัพย์ รับของโจร จนวันที่ 26 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี เริ่มนัดสืบพยานโจทก์ในคดีอาญา ข้อหายักยอกทรัพย์ รับของโจร ซึ่งได้มีการนัดสืบพยานต่อเนื่อง ท่ามกลางการงัดพยานหลักฐานต่าง ๆ นานา จนเกิดดรามา เพราะล้วนมีเงื่อนงำงัดโต้กันไปมา อาทิ ฝั่งหมวดจรูญ ที่จำหน้าผู้ค้าสลากฯ ไม่ได้ หรือ ฝั่งครูปรีชา ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำเป็นขบวนการ โดยมีนายตำรวจเข้าไปเอี่ยว ถ้าทำสำเร็จเตรียมรับทรัพย์ก้อนโตกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะครูปรีชาถึงขั้นมีวลีเด็ด "ความจริงก็คือความจริง" เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของสลากฯ

จนวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า "ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง ส่วนเงินที่อยู่ในบัญชี หมวดจรูญได้ดำเนินการปิดบัญชีไปแล้ว" หรือ ตีความง่าย ๆ ก็เท่ากับว่า หมวดจรูญไม่ได้เก็บสลากฯได้ และครูปรีชาไม่ใช่เจ้าของสลากฯ

แต่หลังสิ้นเสียงคำพิพากษา ครูปรีชาก็ยังเดินหน้าต่อสู้ด้วยการยื่นศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และศาลนัดคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย มาฟังคำพิพากษาวันที่ 21 มกราคม 2564 แต่ก็มีการเลื่อนให้มาฟังเร็วขึ้นเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 2563 หรือเร็วขึ้น 3 เดือน ในวันนั้นศาลฯ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ ยกฟ้องหมวดจรูญ

เพราะแม้ว่าในชั้นการพิจารณาจะพบว่า เจ๊บ้าบิ่น ได้คัดเลือกแบ่งแยกสลากฯ ชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 ไว้มอบให้ครูปรีชาแล้ว แต่เมื่อยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าตกลงซื้อขายกันในราคาเท่าใดให้เป็นที่แน่ชัด ข้อตกลงระหว่างครูปรีชา กับเจ๊บ้าบิ่น จึงยังไม่อาจเกิดเป็นสัญญาซื้อขายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ ครูปรีชาไม่ใช่เจ้าของสลากชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องหมวดจรูญได้ และจากคดีนี้ในช่วงนั้นการซื้อสลากฯ ของคนไทยเรียกว่า ต้องเก็บหลักฐานกันทุกเม็ด บางคนก็ถ่ายรูปคนขายไว้ บางคนก็เซ็นชื่อสลักหลังกันเลย

เพราะไม่อยากเกิดปัญหาเหมือนกับหมวดจรูญ และครูปรีชา ที่มีลาภก้อนโตแต่จะใช้ก็ยังไม่สบายใจแย่งยื้อกันมานานถึง 5 ปี สุดท้ายวันนี้แม้ได้ข้อยุติแล้วว่า หมวดจรูญเป็นเจ้าของเงิน แต่คดีนี้ก็เหมือนยังไม่จบดี เพราะยังมีคดีค้างเก่าที่ยังรอการตัดสินเกี่ยวกับตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้

โดย นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า เมื่อคดีหลักของหวย 30 ล้านจบไปแล้ว การพิจารณาว่าความคดีอื่น ๆ ที่มีการฟ้องร้อง จะมีการยึดผลตัดสินของคดีหลักในการพิจารณา ซึ่งศาลจะมีแนวทางในการพิจารณาของศาลไม่สามารถก้าวล่วงได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark