ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : จากคดีฆาตกรรมผู้ต้องหา สู่ธุรกิจสีเทาของอดีต ผกก.โจ้

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตามต่อกับประเด็นของ พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผู้กำกับโจ้ ที่หลังเป็นข่าวใหญ่โตเกี่ยวกับเรื่องการใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องหาจนเสียชีวิต แต่อีกมุมมีตรวจสอบพบว่า อดีตผู้กำกับโจ้ไปพัวพันเกี่ยวกับการนำจับกุมรถผิดกฎหมายอีก 410 คัน ซึ่งอาจเป็นขุมเงินขุมทองและธุรกิจสีเทาให้กับผู้กำกับโจ้ ไปย้อนดูเหตุการณที่เกิดขึ้นกับคุณวิทวัส ปาลอินทร์

ในวันที่มีการออกตามล่า พันตำรวจเอก ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผู้กำกับโจ้ 26 สิงหาคม 2564 ก็ปรากฎภาพการเข้าค้นบ้านหรู ในเขตคลองสามวา เนื้อที่กว่า 5 ไร่ โดยตำรวจปูพรมค้นหาตัวอดีตผู้กำกับโจ้ แต่สิ่งที่พบคือรถหรูชนิดต่าง ๆ ที่จอดเรียงรายภายในบ้าน 13 คัน มูลค่ารวมกันนับร้อยล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลั่นวาจาไว้ หากมีตำรวจทำผิดต้องตัดทิ้ง

ขณะที่การจับกุมอดีตผู้กำกับโจ้ ค่ำวันเดียวกัน ชุดสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบพบว่า ผู้กำกับโจ้มีรถหรูและรถซูเปอร์คาร์ในครอบครองกว่า 40 คัน จนเกิดคำถามตามมาทันที ว่าตำรวจระดับผู้กำกับสามารถมีรถหรูได้มากขนาดนี้ได้อย่างไร

เวลาต่อมา พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ขณะนั้น ระบุว่า รถยนต์ลัมบอร์กีนี รุ่น Aventador มูลค่าประมาณ 46 ล้านบาท ของอดีตผู้กำกับโจ้ เป็น 1 ใน 80 คัน ที่อยู่ในบัญชีคดีรถหรูเลี่ยงภาษีของดีเอสไอ เมื่อปี 2560 และทำให้รัฐสูญรายได้ไปกว่า 31 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดผู้กำกับโจ้ได้ เพราะเป็นเพียงผู้มีชื่อครอบครองรถ แต่ผู้นำเข้าต่าง ๆ และผู้เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีไปทั้งหมด 7 ราย

เมื่อตั้งต้นจากคดีรถหรู พบว่า อดีตผู้กำกับโจ้ มีคอนเนกชันกับแวดวงไฮโซรถหรู และมักเป็นคนจับกุมคดีรถหรูผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง และ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้เป้าว่า ตั้งแต่ปี 2554-2560 อดีตผู้กำกับโจ้ เป็นเจ้าของสำนวนคดีนำจับรถหรู 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน ยังขายไม่ออกอีก 5 คัน ซึ่งระเบียบว่าด้วยการจ่ายสินบนและรางวัล ซึ่งแบ่งเป็นเงินรางวัลจับกุม และสินบนแจ้งเบาะแส โดยพบว่าปี 2517-2559 เงินรางวัลนำจับสูงถึง 25% ส่วนสินบนแจ้งเบาะแสคือ 30% และต่อมาในปี 2560 มีการเปลี่ยนระเบียบคือทั้งการแจ้งเบาะแส และการจับกุม จะได้ส่วนแบ่งที่ 20% และต้องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี และต่อ 1 เบาะแสที่นำไปสู่การจับกุม นี่ทำให้ระเบียบนี้กลายเป็นช่องทางทำธุรกิจสีเทา

พลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงสั่งการตำรวจสอบสวนกลางเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจสีเทา และพบว่ามีรถที่เป็นชื่อผู้กำกับโจ้จับกุมอยู่ถึง 410 คัน และทุกคันผิดกฎหมาย

ข้อมูลล่าสุดที่ตรวจสอบได้ คือ ณ เวลานี้ สำนวนคดีเรื่องการทำผิดเกี่ยวกับการนำเข้ารถหรูยังไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องประสานหลายหน่วยงาน ทั้งกรมศุลกากร ธนาคาร หน่วยงานระหว่างประเทศ ที่สำคัญคดีนี้คนก่อเหตุเป็นตำรวจ การรวบรวมข้อมูลต้องละเอียดรัดกุม เอาผิดได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าตำรวจจะช่วยกัน โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่ามีตำรวจร่วมกระทำผิดประมาณ 10 นาย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และยังพบพฤติกรรมการนำเข้าที่มีข้อพิรุธ เพราะมีรถหรู 240 คัน ใน 410 คัน ที่ถูกตรวจสอบเป็นรถที่มาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีบริษัทประกันภัยในประเทศมาเลเซียกว่า 80 บริษัท ที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเนื่องจากรถหาย และยังเป็นรถที่แจ้งหายช้ากว่าปกติด้วย

จากคดีฆาตกรรมนำมาสู่การตรวจสอบเส้นทางการเงินรถหรู ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังรอความชัดเจนจากกองบัญชาการสอบสวนกลาง ภายใต้ร่มเงาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังตรวจสอบเรื่องนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark