ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ราคาน้ำมันพุ่ง กำไรโรงกลั่นพรวด ประชาชนจ่ายแพง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ดีใจได้แค่ไม่กี่วันสำหรับผู้ใช้เบนซิน หลัง กบน. มีมติลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมลิตรละ 1.02 บาท เหลือ 0.09 บาท ในส่วนของแก๊สโซฮอล 91 กับ 95 ทำให้ราคาปรับลดลงในส่วนของเบนซินและแก๊สโซฮอล 60 สตางค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่ผ่านไปแค่วันเดียว ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินดีดขึ้นอีก 50 สตางค์ เมื่อวานนี้ ในขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนจ่ายแพง จากราคาน้ำมันพุ่ง ส่วนโรงกลั่นมีผลกำไรพุ่งพรวด

ดูราคาน้ำมันกันไปเยอะแล้ว วันนี้พาท่านผู้ชมไปดูผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมัน 6 แห่งในประเทศไทยกันบ้าง

เริ่มที่ สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC มีกำไรสุทธิ ปี 2564 อยู่ที่ 4,746.46 ล้านบาท พลิกจากเดิมที่ขาดทุนในปี 2563 อยู่ที่ 6,004 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรสุทธิมาแรงอยู่ที่ 5,284.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมากกว่ากำไรสุทธิของปีที่แล้วทั้งปี 537.91 ล้านบาท

ส่วน IRPC มีกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 14,505 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิที่ 1,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปี 2564 ถึง 113%

ขณะที่ บริษัท เอสโซ่ จำกัด (มหาชน) มีผลกำไรสุทธิ 4,443 ล้านบาท ในปีที่แล้ว แต่ไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรพุ่งไปอยู่ที่ 5,899 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีถึง 1,456 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่ 3 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 4,211.67 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วทั้งปี มีกำไรสุทธิที่ 44,982.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิเพียงแค่ 199 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน หรือ BCP ปีที่แล้ว มีกำไรสุทธิ 7,624 ล้านบาท แต่ปีนี้แค่สามเดือนในไตรมาสแรกมีกำไรแล้ว 4,356.32 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57.14% ของกำไรสุทธิทั้งปีในปีที่แล้ว

ปิดท้ายที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มีกำไรสุทธิในปีที่แล้วถึง 1.25 หมื่นล้านบาท และไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 7,182.67 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของกำไรสุทธิทั้งปีในปีที่แล้ว

แม้ว่ากำไรสุทธิของบรรดาโรงกลั่นน้ำมันที่พาเหรดเพิ่มสูงขึ้นจะมีรายได้จากส่วนอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือจากการกลั่นน้ำมัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยสำคัญมาจาก "ค่าการกลั่น" ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยในประเทศไทยค่าการลั่นปรับขึ้นจาก 1 บาท 35 สตางค์ต่อลิตร ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็น 5 บาท 82 สตางค์ต่อลิตร ในปัจจุบัน ทำให้ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้มีการลดต้นทุนราคาน้ำมันในส่วนนี้ เพื่อช่วยฉุดราคาน้ำมันดีเซลลงมา จากที่ในปัจจุบันต้องจ่ายลิตรละ 34 บาท

ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจจากภาครัฐเหมือนกัน โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตขึ้นมา โดยมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาประเด็นเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันที่กำลังเป็นข้อกังขาในสังคม ว่าโรงกลั่นฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นแพงเกินไปหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่ในมุมมองของนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานยังเห็นว่ารัฐบาลปรับนโยบายล่าช้า ไม่เท่าทันสถานการณ์ และยังติดอยู่กับข้ออ้างกลไกเสรี ทำให้ไม่กล้าเข้าไปแตะค่าการกลั่น จึงเสนอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายเก็บภาษีลาภลอยแทน

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันในปัจจุบันติดลบสูงถึง 86,028 ล้านบาท โดยรัฐบาลพยายามใช้หลายวิธีในการเติมเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งกู้เงินไปจนถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซลเติมไปถึง 5 บาทต่อลิตร เพื่อนำเงินไปเติมเข้ากองทุน 4 บาทต่อลิตร แต่วิกฤตกองทุนน้ำมันก็ยังไม่คลี่คลาย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark