ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เช็กวัคซีนล้น จ่อหมดอายุ? ประชาชนเมินฉีด

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง คือ กรณีวัคซีนล้นคลัง จนต้องรีบจัดสรรไปให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ทั่วประเทศ มากถึง 16.8 ล้านโดส ทำให้ชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้ยอมรับความจริง ถ้าหมดอายุให้รวบรวมไปทำลาย อย่าไปปล่อยให้หมดอายุที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

กระทั่งล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ปรับแนวทางการจัดสรรใหม่ ส่งวัคซีนให้คลังจังหวัดเป็นผู้กระจายแทน ซึ่งทางชมรมแพทย์ชนบท ก็มองว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่จะยังติดตามประเด็นการสั่งซื้อวัคซีนเกินจำเป็น อันเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ครั้งนี้ต่อ

ชัดเจนแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังจะส่งวัคซีนล็อตใหญ่ 16.8 ล้านโดส ลงไปตามภูมิภาค เพียงแต่มีการเปลี่ยน สถานที่เก็บจากเดิมส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นเก็บที่คลังในระดับจังหวัดแทน ขณะที่ยอดการส่งยังเท่าเดิม การจัดส่งครั้งนี้จะจัดส่งซิโนแวค และแอสตราเซเนกา มาก่อน ส่วน ไฟเซอร์ ก็จะทยอยจัดส่งตามมา โดยให้ สสจ.ทุกจังหวัด เตรียมเคลียร์ตู้เย็นวัคซีนให้พอกับวัคซีนที่จะส่งมา 

เราส่งทีมข่าวไปสุ่มสำรวจตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า ตลอดเดือนที่ผ่านมา มีการกระจายวัคซีนมาให้ฉีดอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการฉีดตามรายชื่อ ที่อยู่ในระบบโดยส่งให้อาสาสมัครสาธารณสุข ลงไปสำรวจตามบ้านถึงความพร้อมที่จะฉีดวัคซีนก่อนจะส่งชื่อมาให้ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวบรวม และทำการเบิกวัคซีนมาฉีดให้กับชาวบ้าน

เจ้าหน้าที่ รพ.สต. บอกว่า ที่นี่จะใช้ระบบการส่งวัคซีนแบบวันต่อวัน และหากในวันนั้นไม่สามารถฉีดได้ตามจำนวน ก็จะส่งวัคซีนที่เบิกมาทั้งหมดกลับไปที่ สสจ. ทันที ไม่มีการตกค้าง เพราะที่นี่ไม่มีตู้สำหรับแช่แข็งที่อุณหภูมิ -70 องศา แต่เป็นการใช้กระติกควบคุมความเย็นในการดูแลวัคซีนแบบวันต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีนที่ได้รับเบิกแต่ละวันจะเป็นไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา

ขณะที่ อาสาสมัครสาธารณสุข ยอมรับว่า การปูพรมฉีดเข็ม 3 ตอนนี้คืบหน้าอย่างก้าวกระโดดแต่ประชาชนส่วนใหญ่ เลือกที่จะฉีดแอสตราเซเนกา หรือ ไฟเซอร์ เท่านั้น และเมื่อสอบถามถึงความพร้อมในการฉีดเข็มสี่หรือบูธเตอร์โดส ส่วนใหญ่จะไม่พร้อมและไม่อยากฉีดเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลข้างเคียงเพราะที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นในชุมชนไม่น้อย

จากการสำรวจในโรงพยาบาลขนาดใหญ่พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนใหญ่จะใช้ระบบเดียวกันกับในต่างจังหวัด คือใช้วิธีเบิกวัคซีนแบบรายสัปดาห์ เพราะตู้เก็บอุณหภูมิที่มีอยู่จะยืดอายุวัคซีนได้แค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบการจัดเก็บ แบบ First in First Out เพื่อไม่ให้ล็อตการผลิตและอายุวัคซีนที่เหลืออยู่เกิดความสับสน

ทั้งนี้จากการสำรวจในเชิงลึก พบว่าวัคซีนที่อยู่ในพื้นที่เมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ตอนนี้ มีเฉพาะแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์เท่านั้น โดยเฉพาะ แอสตราเซเนกา มีเหลืออยู่ในปริมาณมากและไม่น้อยทยอยหมดอายุ ซึ่งต้องส่งไปทำลายอย่างถูกวิธี ตามขั้นตอนปฏิบัติ เพราะถือเป็นขยะติดเชื้อ เช่นเดียวกับขวดวัคซีนและเข็มที่ใช้ฉีด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark