ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : คนหาย จากภาวะโรคสมองเสื่อม

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ปิดท้ายตีตรงจุด ไปดูเรื่องราวการตามหาคนหายของครอบครัวหนึ่ง ที่มีคนในครอบครัวหายออกไปจากบ้านนานกว่า 1 เดือน จากอาการป่วยโรคสมองเสื่อม ติดตามจากรายงาน

ริสแบนด์ หาย (ไม่) ห่วง ที่คุณลุงสุพจน์ เสาเวียง อายุ 57 ปี สวมติดตัวไว้ตลอด และติดไว้บนเสื้อ ซึ่งจะสามารถสแกน ทำให้ทราบชื่อ-ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อได้ เพื่อป้องกันการพลัดหลงที่อาจเกิดขึ้นอีก หลังจากที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยหายออกจากบ้านไป เพราะป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ทำให้หลงลืม และจำทางกลับบ้านของตัวเองไม่ได้

แม้จะผ่านมา 1 ปีแล้ว แต่ ป้าสมใจ เสาเวียง ยังคงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ได้ดี หลังลุงสุพจน์ น้องชายของเธอ หายออกจากบ้านไป โดยบอกกับหลานว่าจะออกไปซื้อของ แล้วไม่กลับมาบ้านอีกเลย ซึ่งตอนนั้นทุกคนในครอบครัว ไม่รู้มาก่อนว่าเขากำลังป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมระยะแรกด้วย จึงทำให้ไม่ได้เอะใจกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

การออกตามหาน้องชาย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทบไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการเลย ทำให้ป้าสมใจต้องตามหาน้องด้วยตัวเอง เงินเก็บก้อนเดียวในชีวิตที่มีกว่า 100,000 บาท ถูกนำมาใช้จนเกือบหมด ในการจ้างแท็กซี่และวินรถจักรยานยนต์ ช่วยขับตระเวนหาในเส้นทางที่น้องชายเคยไป แต่ก็ไม่มีวี่แววเลยแม้แต่น้อย เธอจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือไปที่มูลนิธิกระจกเงา กระทั่งเริ่มได้เบาะแสของลุงสุพจน์ ว่าเคยไปขออาหารที่วัดกิน

ป้าสมใจยอมรับว่า ตอนนั้นสิ่งที่ห่วงที่สุด คือ ความปลอดภัยและสุขภาพของน้อง เพราะมีโรคประจำตัวเป็นลมชัก ซึ่งต้องทานยาสม่ำเสมอ

1 เดือน 4 วัน ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับคนออกตามหาเท่านั้น แต่คนที่สูญหายก็ทุกข์ทรมานเช่นกัน เพราะอยากกลับบ้าน แต่ก็จำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงแค่การรอคอย ให้คนในครอบครัวมาเจอ

ในที่สุดการค้นหาก็สิ้นสุดลง หลังมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแส ว่าเห็นชายที่ลักษณะคล้ายกับในประกาศตามหาคนหาย มาอาศัยกินนอนอยู่หลังป้ายรถเมล์ ย่านบางขุนนนท์ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของป้าสมใจไป 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านที่ป้าสมใจจะต้องพาลุงสุพจน์ไปหาหมอทุกเดือน

ครอบครัวของป้าสมใจ เป็น 1 ในครอบครัวที่โชคดี ได้คนในครอบครัวกลับคืนมา ยังมีอีกหลายครอบครัวที่มีผู้สูงอายุสูญหาย จากภาวะการป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม แล้วไม่สามารถตามหาได้เจอ

จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี โดยโรคอัลซไฮเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยอัลซไฮเมอร์ในประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,177,000 คน นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว โรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานได้ด้วย

โดยอาการของโรคจะทำให้สมองผู้ป่วยสูญเสียหน้าที่ในการทำงานหลาย ๆ ด้านพร้อมกันอย่างช้า ๆ แต่ถาวร​ โดยที่ผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ตัว แต่จะส่งสัญญาณให้เห็น เมื่อเริ่มมีปัญหาด้านความจำ การคิด และการตัดสินใจ รวมถึงพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติไป ความเข้าใจและการดูแลใกล้ชิดจากครอบครัว จึงมีความสำคัญ เพราะหากตรวจรักษาได้แต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัว และชะลอการเสื่อมของสมองได้ตั้งแต่ในระยะแรก

ประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคสมองเสื่อม คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุพลัดหลง สูญหายจากบ้าน จนนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ ความเสื่อมถอยของร่างกาย บางครั้งก็ไม่มีสัญญาณบอกเหตุ แม้ทางการแพทย์จะระบุว่า มีเพียงแค่ 1% ที่สามารถหายได้ แต่หากสามารถลดปัจจัยของการเกิดโรค และสร้างกระบวนการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากภาวะผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เช่นกัน

ที่สำคัญคือ ความใส่ใจต่อคนในครอบครัว ที่จะทำให้เราเห็นความผิดปกติได้เร็วขึ้น เพื่อช่วยป้องกันการพลัดหลงของบุคคลอันเป็นที่รัก จะได้ไม่ต้องเสียใจเหมือนกับหลายครอบครัว ที่ยังพลัดพรากจากกัน โดยไม่รู้ว่าจะมีวันได้พบกันอีกหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark