ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เอกชน ห่วง พาณิชย์ ตรึงราคาสินค้า บิดเบือนกลไกตลาด ผู้ประกอบการเลิกผลิต วิกฤตประเทศ

เจาะประเด็นข่าว 7HD - บ้านเราตอนนี้ยังหนีไม่พ้นปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง รายได้หายาก แม้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. จะมีมติตรึงราคาสินค้าควบคุม 46 รายการ ไปอีก 1 ปี แต่อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะในมุมมองของภาคเอกชน เห็นว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ที่จะก่อให้เกิดวิกฤตประเทศ ไปฟังเสียงคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ไว้กับทีมข่าวของเรา

อีกเรื่องที่น่ากังวล และจะเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดในรอบเกือบ 30 ปี เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินคาด โดยมีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และตัวเลขนี้ยังไม่ใช่อัตราสูงสุด

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ "เฟด" บอกว่า อาจมีแนวโน้มที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50 หรือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ ในการประชุมครั้งต่อไป

ผลจากการปรับดอกเบี้ยดังกล่าว จะทำให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าลง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35 บาท ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อของประเทศไทยเองก็อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง โดยในเดือนพฤษภาคมสูงถึง 7.1 %

และราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มแตะถึง 40 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการจะเดือดร้อนถ้วนหน้า เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน จึงมีข้อเสนอจากภาคเอกชนให้เติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เติมเงินในกระเป๋าประชาชนแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และปรับค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสมของค่าครองชีพ

ประธานสภาหอการค้าฯ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องปุ๋ยราคาแพง ที่ขณะนี้เกษตรกรต้องลดการใช้ไปถึง 15 % ขณะที่สต็อกก็เริ่มหมดลง กำลังนำไปสู่ปัญหาปุ๋ยขาดตลาด รัฐบาลจึงไม่ควรกำหนดนโยบายกดราคาไม่ให้ขึ้น พร้อมแนะนำให้จับเข่าคุยกับภาคเอกชน เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark