ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : สำรวจภูมิคุ้มกัน กทม. กับปัญหาเพลิงไหม้

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด สำรวจภูมิคุ้มกัน กทม. กับปัญหาเพลิงไหม้ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เราเคยตีตรงจุดเรื่องนี้ เพื่อเป็นการบ้านฝากถึง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ก็ไม่คิดว่าจะเกิดเพลิงไหม้ใจกลางเมืองติด ๆ กันถึง 3 ครั้ง ภายในเดือนเดียว หน่วยดับเพลิง เครื่องไม้เครื่องมือ มีความพร้อมแค่ไหน เราจะไปเจาะลึกเรื่องนี้กันอีกครั้ง

เมื่อย้อนดูสถิติเพลิงไหม้อาคารในเขต กทม. เฉพาะเหตุใหญ่ที่มีอาคารพังถล่มย้อนหลังไป 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564 พบว่า

ปี 2560 มีอาคารเกิดเพลิงไหม้รวม 359 ครั้ง ในจำนวนนี้มีอาคารถล่ม 3 ครั้ง
ปี 2561 มีอาคารเกิดเพลิงไหม้รวม 292 ครั้ง ในจำนวนนี้มีอาคารถล่ม 3 ครั้ง
ปี 2562 มีอาคารเกิดเพลิงไหม้รวม 326 ครั้ง ในจำนวนนี้มีอาคารถล่ม 5 ครั้ง
ปี 2563 มีอาคารเกิดเพลิงไหม้รวม 285 ครั้ง ในจำนวนนี้มีอาคารถล่ม 2 ครั้ง
ปี 2564 มีอาคารเกิดเพลิงไหม้รวม 279 ครั้ง ในจำนวนนี้มีอาคารถล่ม 2 ครั้ง

ในปีนี้ ศูนย์วิทยุพระราม 199 รายงานการเกิดเพลิงไหม้พื้นที่ กทม. ทั้ง 50 เขต ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าเกิดเพลิงไหม้อาคารรวมแล้ว 131 ครั้ง โดยเดือนมกราคมเกิดเพลิงไหม้สูงสุด 39 ครั้ง และมีเพียง 67 ครั้ง ที่เพลิงสงบได้ก่อนเท่านั้น

สถิติข้างต้นยังไม่นับรวมเหตุไฟไหม้กลางกรุงในเดือนนี้อีก 3 ครั้ง รับการเข้ารับตำแหน่งของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

7 มิถุนายน เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์สูง 6 ชั้น ถนนสีลม ซอย 2 แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก เคราะห์ดีครั้งนั้นไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

21 มิถุนายน เปลวเพลิงลุกโชนขึ้นอีกครั้งที่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ซอยปลูกจิต ถนนพระรามที่ 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไป 30 หลัง จนถึงขณะนี้หลายครอบครัวยังไร้ที่อยู่อาศัย

และล่าสุด เหตุเกิดวานนี้ เพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ย่านตลาดสำเพ็ง ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ ห่างจากเหตุเพลิงไหม้ชุมชนบ่อนไก่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตคากองเพลิง 2 คน บาดเจ็บ 11 คน และมีปัญหาทับซ้อนเพิ่มเติม คือ อาจเกิดอาคารถล่มได้ จนเป็นเหตุให้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งถอดบทเรียน สำรวจจุดเสี่ยง โดยปัญหาที่พบมีทั้งความเสี่ยงของตัวอาคาร และสายสื่อสารที่ระโยงระยางไปกับสายไฟ

ทีมข่าวของเราพบว่า ในปี 2560 กทม. เคยมีการสำรวจอาคารทั้งหมดในพื้นที่ กทม. พบอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 แบ่งเป็น อาคารทั่วไป 6,000-7,000 แห่ง และอาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร จำนวน 1,030 อาคาร ตึกเหล่านี้มีความเสี่ยงเมื่อเกิดเพลิงไหม้รุนแรง อาจทำให้พังทลายลงมาได้

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ที่เชื่อว่ายังเป็นโศกนาฏกรรมในความทรงจำของหลายคน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปีที่แล้ว ที่หมู่บ้านกฤษดานคร 31 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา มีผู้บาดเจ็บติดค้างภายในบ้าน 3 ชั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือออกมาได้อย่างปลอดภัย 7 คน เสียชีวิต 1 คน มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเสียชีวิตจากอาคารถล่มขณะปฏิบัติงานอีก 4 คน ครั้งนั้นก็มีการพูดถึงการถอดบทเรียนที่จบลงด้วยการลืมเลือน

ในปัจจุบัน กทม. มีสถานีดับเพลิงและกู้ภัย 37 แห่ง และสถานีดับเพลิงย่อย 12 แห่ง รวม 49 แห่ง และในปีนี้มีแผนที่จะก่อสร้างสถานีดับเพลิงเพิ่มอีก 9 แห่ง รวมงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 559.27 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่ชุมชนนั้น กทม. ก็เคยสำรวจพบว่า มีชุมชน 10 แห่ง เป็นพื้นที่เสี่ยงหากเกิดอัคคีภัย อาจยากต่อการช่วยเหลือดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที ประกอบด้วย 1.เคหะห้วยขวางแฟลต 21-24 สถานีห้วยขวาง 2.วานิชสัมพันธ์ สถานีสวนมะลิ 3.ประตูน้ำฉิมพลี สถานีตลิ่งชัน 4.มะนาวหวาน สถานีตลาดสวนพลู 5.โชคชัยร่วมมิตร สถานีสุทธิสาร 6.ชุมชนผาสุก สถานีดาวคะนอง 7.ชุมชนร่วมกันสร้างลาดพร้าว 101 แยก 48 สถานีหัวหมาก 8.ริมคลองราชมนตรี สถานีบางแค 9.เลียบคลองทวีวัฒนา สถานีบางแค และ 10.ประชาร่วมใจ สถานีลาดยาว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงดับเพลิงยากของชุมชนใน กทม. มีหลายเรื่อง อาทิ ไม่มีหรือมีถังดับเพลิงไม่เพียงพอ, สัญญาณเตือนภัยดังไม่ทั่วถึงทั้งชุมชน, ประปาหัวแดงยังไม่ครบทุกพื้นที่, ขาดการฝึกซ้อม, ห่างไกลจากสถานีดับเพลิง, พื้นที่คับแคบ และ จราจรติดขัด

โจทย์ใหญ่ที่ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องคิดเพื่อลดอุปสรรคในการดับเพลิงมีหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ อุปกรณ์ ยานพาหนะทรุดโทรม ไม่พร้อมใช้งาน ขาดบุคลากรปฏิบัติงานด้านอัคคีภัย โดย กรุงเทพฯ มีบุคลากรปฏิบัติงานเพียง 38 คน ต่อ 100,000 ประชากร และพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีดับเพลิงกว้างเกินไป บางแห่งกว้างถึง 32.68 ตารางกิโลเมตร เลยทีเดียว

เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ ก็พบว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ กทม. แบกน้ำหนักเยอะจริง ๆ อย่าง กรุงโซล อยู่ที่ 4.39 ตารางกิโลเมตร ต่อหนึ่งสถานีดับเพลิง ส่วน กรุงโตเกียว อยู่ที่ 7.57 และ สิงคโปร์ 14.27 เรียกว่าน้อยกว่าเราหลายเท่าตัวเลย ก็เลยมีข้อเสนอว่าให้เพิ่มสถานีดับเพลิงใน กทม. ให้ได้ 110 สถานี  ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับผิดชอบของสถานีแต่ละแห่งเท่ากับสิงคโปร์ คือ 14.27 ตารางกิโลเมตร

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark