ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : เอาสายไฟลงดิน ทำได้จริง ทำได้ไวแค่ไหน?

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุด เราจะกางข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสายไฟฟ้า และสายสื่อสารใน กทม. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ถูกพูดถึงว่าต้องเร่งแก้ไข หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งล่าสุด ย่านสำเพ็ง ความจริง น้องจุ้นจ้าน เคยพาท่านผู้ชมไปสำรวจกันมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน เพื่อฝากเป็นการบ้านถึง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ มาวันนี้เราจะย้อนข้อมูลให้ดูกันอีกครั้ง

ไล่เรียงกันให้เห็นชัด ๆ ว่า บนเสาไฟฟ้า 1 ต้น ที่เห็นสายระโยงระยาง จะมีสายอยู่ 3 แบบ สายที่อยู่บนสุดของเสาไฟฟ้า คือ สายไฟฟ้าแรงสูง เอาไว้ส่งกระแสไฟฟ้าข้ามไปต่างหมู่บ้าน ต่างเขต ส่วนสายแบบที่ 2 ที่อยู่ตรงกลาง คือ สายไฟฟ้าแรงต่ำ ที่ใช้ส่งไฟเข้าไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในชุมชน และสายแบบที่ 3 ที่อยู่ชั้นล่างสุด เป็นกลุ่มก้อนใหญ่นี้ คือ สายสื่อสารโทรคมนาคม คือ กลุ่มสายโทรศัพท์ สายเคเบิล สายไฟเบอร์ อินเทอร์เน็ตต่าง ๆ

สายสุดท้ายถูกกล่าวโทษว่าเป็นจุดที่ทำให้รกรุงรัง เพราะมีสายไม่ได้ใช้งาน แต่บริษัทเอกชนไม่ไปจัดการจัดเก็บ ล่าสุด กสทช. มีแผนที่จะปฏิบัติตามมติ ครม. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารกลุ่มเร่งด่วนในพื้นที่ กทม. ปีนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งต้องทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้ง กสทช. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ กทม. มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยการไฟฟ้านครหลวง รับผิดชอบในเรื่องค่าอุปกรณ์แขวนสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่ กทม. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดชอบต่างจังหวัด กทม. รับผิดชอบในเรื่องการจัดหาพื้นที่ในการพักสายสื่อสารที่รอการกำจัดซาก และการอำนวยการจัดระเบียบสายสื่อสาร ส่วน สำนักงาน กสทช. รับผิดชอบเรื่องค่ารื้อถอนสายสื่อสาร และค่ากำจัดซากสายสื่อสาร

ล่าสุด ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีนโยบายเอาสายไฟลงดินเขตละ 20 กิโลเมตร โดยเลือกจุดที่เชื่อมต่อกัน เช่น คลองเตย ไปต่อปทุมวัน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน และสามารถไปขยายผลต่อได้ กำหนดเส้นตายเห็นผลใน 1 เดือน โดยเป็นการกล่าวระหว่างการลงพื้นที่คลองเตยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

ความจริงโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2527 บูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้ง กสทช. การไฟฟ้านครหลวง และ กทม. เน้นพื้นที่แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจการค้า และถนนสายสำคัญ กำหนดระยะทางทั้งหมดที่จะต้องดำเนินการ 215.6 กิโลเมตร

ตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาปี 2527 จนถึงปี 2557 เสร็จไปแค่ 55.7 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก ให้ครบ 88.3 กิโลเมตร ที่วางไว้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรองรับมหานครอาเซียน ซึ่งเริ่มทยอยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ต้องใช้งบประมาณถึง 48,717 ล้านบาท นำสายไฟฟ้าลงดิน 39 พื้นที่ ทั้งใน กทม. นนทบุรี และ สมุทรปราการ รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร

เท่ากับว่า โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมดนี้ ยังเหลือระยะทางที่ต้องดำเนินการอีกรวม 159.9 กิโลเมตร ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดว่าต้องแล้วเสร็จในปี 2568 รวมถึงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย

และในวันนี้ คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการการจัดระเบียบสายสื่อสารของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณปากซอยสุขุมวิท 36 คาดว่า การนำสายไฟลงดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนราว 20,000 ล้านบาท โดยจะหารือกับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต่อไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark