ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ชำแหละหม้อแปลงไฟฟ้า ถอดบทเรียนเพลิงไหม้สำเพ็ง

เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้สำเพ็ง สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บอกว่ายังมีหม้อแปลงลักษณะเดียวกันอีกมากกว่า 400 ลูก กระจายทั่ว กทม. ขอให้เร่งตรวจสอบ หม้อแปลงของการไฟฟ้านครหลวง จึงกลายผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง วันนี้เราจะชำแหละหม้อแปลง คลายข้อสงสัยกัน

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าที่เราเห็นกันทั่วไปว่า เดี๋ยวนี้จะมี 2 แบบ คือ แบบใช้น้ำมัน และแบบแห้ง แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้แบบน้ำมัน เพราะมีราคาถูกกว่า ซึ่งหม้อแปลงที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่สำเพ็ง เป็นแบบน้ำมัน

สำหรับหม้อแปลงแบบน้ำมัน ภายในจะมีขดลวดทองแดง 2 หรือ 3 ขดลวด แล้วแต่ขนาด ทำหน้าที่เก็บ และกระจายไฟฟ้า โดยขดลวดแรงดันต่ำจะปรับกระแสไฟให้ต่ำลง เพื่อกระจายไปยังบ้านเรือนของประชาชน ต่อมาคือน้ำมันหม้อแปลง อาจมีอยู่เป็นพันลิตร ทำหน้าที่ปรับสมดุลภายในตัวหม้อแปลง และป้องกันไม่ให้ขดลวดทองแดงมาชนกันจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร แต่หากเกิดเพลิงไหม้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

ตัวต่อมาคือแท็ปปรับแรงดัน ทำหน้าที่ไม่ให้ภายในของหม้อแปลงมีแรงดันมากเกินไป หรือเรียกง่าย ๆ เป็นตัวปรับสมดุล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราชาร์จมือถือไว้ แล้วเล่นไปด้วยมือถือก็จะร้อน จึงต้องมีตัวปรับสมดุล

ถัดมาคือท่อกันระเบิด จะเป็นระบบป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดภายในหม้อแปลง ซึ่งปกติแล้วหม้อแปลงในปัจจุบันจะมีการตัดกระแสไฟเมื่อพบปัญหา อีกส่วนประกอบที่สำคัญคือครีบระบายความร้อน หน้าที่คือระบายความร้อนของหม้อแปลง เพราะตัวหม้อแปลงที่ทำงานหนักตลอดเวลา สามารถทานความร้อนได้ราว 150 องศาฯ ดังนั้นต้องมีตัวระบายความร้อนเพื่อป้องกันไม่ให้หม้อแปลงมีความร้อนเกินกว่าที่จะรับได้ จนส่งผลให้น้ำมันหม้อแปลงหลอมละลายและเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

ทั้งหมดนี้คือระบบการทำงานคร่าว ๆ ของหม้อแปลงไฟฟ้า แล้วสาเหตุอะไรที่จะทำให้หม้อแปลงลัดวงจร จนเกิดเพลิงไหม้ได้บ้าง อาจารย์สุพรรณ บอกว่า หลัก ๆ มี 2 อย่างด้วยกัน คือ การเกิดความร้อน เนื่องจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และการเสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน

ส่วนเพลิงไหม้ที่สำเพ็ง อาจารย์สุพรรณ บอกว่า หากมองจากคลิปที่ประชาชนถ่ายไว้ การเกิดกลุ่มควันก่อนเกิดการระเบิดจนเพลิงลุกไหม้ คาดว่าหม้อแปลงไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งต้องรอให้พิสูจน์หลักฐานตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่สิ่งที่อยากจะฝากหน่วยงานรัฐคือ อย่ารอให้วัวหายแล้วล้อมคอก รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยแก้ รอบหน้าหากต้องซื้อหม้อแปลง ควรเปลี่ยนเป็นแบบแห้ง แม้ราคาจะสูงกว่า แต่หากมองคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนถือว่าคุ้ม รวมถึงควรมีการกำหนดจุด และประกาศอย่างชัดเจน ไม่ให้ประชาชนเข้าไปอยู่บริเวณหม้อแปลงที่เสี่ยงอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark