ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดธุรกิจรังนกบ้าน เบียดรังนกสัมปทาน

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ คุณมะลิ แซ่ฉิ่น พาไปติดตามธุรกิจรังนกบ้าน ที่ขณะนี้พุ่งเบียดรังนกสัมปทาน แต่ท่ามกลางการเติบโต ก็ยังมีอุปสรรคที่อาจเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อทิศทางรายได้ ติดตามจากรายงาน

นี่คือสภาพบ้านนกที่สร้างเลียนแบบถ้ำได้อย่างกลมกลืน จะเห็นได้ว่าด้านบนจะเป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่น แต่ด้านล่างสามารถทำเป็นศูนย์การเรียนรู้วงจรชีวิตของนกนางแอ่น หรือ เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตี๋บ้านนก ผู้นำด้านการสร้างบ้านนกมากกว่า 17 ปี บอกว่า ทุกหลังที่สร้างมากว่า 300 แห่ง แทบไม่มีหลังใดที่ไม่มีนกมาอยู่อาศัย นั่นเพราะผู้สร้างเรียนรู้ที่จะนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดไปในบ้านแต่ละหลัง เพราะแม้โมเดลบ้านทุกหลังจะเหมือนกัน แต่สภาพแวดล้อมที่ต่างก็ล้วนมีผลให้นกเข้าไม่เหมือนกัน จึงต้องคุมให้ได้ ทั้งเรื่องอุณหภูมิ และการรบกวนของสิ่งเร้าภายนอก

ทุกวันนี้ความนิยมในการสร้างบ้านนกได้ขยายไปทั่วประเทศมากกว่า 20,000 หลัง แต่ 90% ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่ ภาคอีสาน กำลังเริ่มตั้งไข่ แต่โอกาสทางธุรกิจในการสร้างบ้านนกจะมีมากกว่าภาคใต้ในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะไม่มีปัญหาการแย่งนก แต่ท่ามกลางการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ยังมีอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องไปเร่ขายในตลาดใต้ดิน หรือถูกกดราคา

จีน คือปลายทางที่หลายประเทศหมายตาส่งออกรังนก เพราะเป็นตลาดใหญ่ และความต้องการบริโภครังนกก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบัน เส้นทางส่งรังนกไปประเทศจีนของไทยก็ยังถือว่าแคบมาก เพราะแม้ว่าทางการจีนจะเปิดทางนำเข้ารังนกไทยแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเป็น "รังนกบริสุทธิ์" ที่มีสีขาว สีเหลือง หรือสีทองเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ฉบับที่ มกษ.6705-2557 มีบริษัทผู้ส่งออกรังนกไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพียง 2 บริษัท คือ บริษัท สยามรังนกทะเลใต้ จำกัด และ บริษัทสยามรังนก สากล จำกัด แต่ในความเป็นจริง ส่งออกได้เพียงแค่บริษัทเดียวเท่านั้น

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายบ้านรังนก หวังเพิ่มความสามารถในการส่งออกรังนกไปต่างประเทศ กอบโกยรายได้ จึงทำให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อนุญาตให้ผู้เลี้ยงรังนกบ้านสามารถครอบครองรังนกและเก็บรังนกที่เลี้ยงไว้มาขายได้ แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีบ้านรังนกใดที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ตามกฎหมาย เหตุเพราะยังมีกฎหมายอีก 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง

การเริ่มมีส่วนแบ่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้นของรังนกบ้าน เป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้สัมปทานรังนกกำลังถดถอย จนทุกพื้นที่หาเอกชนเข้ารับสัมปทานยากเต็มที บางแห่งไม่มีเอกชนสนใจเลย เช่น ที่จังหวัดชุมพร ขณะที่รังนกบ้านก็มีปัญหาต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้วิถีธุรกิจกระทบวิถีชาวบ้าน การกำหนดผังเมืองที่ชัดเจน ไม่ให้รังนกบ้านกระทบชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญคือความร่วมไม้ร่วมมือของผู้เลี้ยง ที่นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎ ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมในชุมชนแล้ว ยังต้องไม่คิดทำลอกเลียนแบบจนตัดโอกาสผู้เลี้ยงด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark