ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

วิถีเกษตรกรลำไยสู้ต้นทุน จ.เชียงใหม่

เช้านี้ที่หมอชิต - ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ผลผลิตลำไย เริ่มออกผลให้เก็บเกี่ยว แต่ราคายังไม่ได้ตามที่เกษตรกรต้องการ ประกอบกับต้นทุนสูงขึ้น ไปลงพื้นที่สำรวจจากรายงานของคุณเกรียงไกร รัตนา

นี่คือต้นลำไยจำนวน 170 ต้น ที่ปลูกอยู่บนเนื้อที่กว่า 14 ไร่ ในพื้นที่ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสวนลำไยจากหลายพันไร่ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ยึดเป็นอาชีพหลัก ในการเลี้ยงครอบครัว

การทำสวนลำไยไม่ง่าย ที่เห็นต้นโต ๆ กันขนาดนี้ พ่อศรีเจ้าของสวน บอกว่า ปลูกมานานเกือบ 30 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็เยอะ ล้มตายไปบ้างก็มี แต่ที่ยืนหยัดอยู่ได้ เกิดจากประคบประหงมอย่างดี เหมือนดูแลลูกกันเลยทีเดียว เรียกว่าต้นไหนลูกดกต้องเอาไม้ค้ำไว้ ไม่ให้ติดพื้น เพราะแมลงในดินทำให้ลูกลำไยเน่า รวมถึงต้องคอยตรวจดูไม่ให้แต่ละพวงมีเชื้อราดำ ที่เป็นต้นเหตุทำให้ลูกไม่สวย

ถึงเวลาเก็บขาย จะมีพ่อค้ามารับซื้อตามสวน ภาษาชาวบ้านเรียกว่าการขายแบบมัดปุ๊ก ถ้าแปลเป็นไทยกลาง คือการขายเป็นพวง ลำไยจะต้องสวย โดยแรงงานที่มาเก็บลำไย จะเป็นชาวบ้านในระแวกใกล้เคียงกันมารับจ้าง ทำกันจนกลายเป็นวิถีชาวบ้าน มาตั้งแต่สมัยก่อน 

สำหรับราคาลำไยในช่วงนี้ พ่อค้าบอกว่าเกรดสวย ๆ อย่าง AA ใหญ่จัมโบ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-32 บาท แต่จากปัญหาต้นทุนราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นกระสอบละ 1,600 บาท ทำให้หลายสวนที่ทุนน้อย ต้องปลูกตามยถากรรม รดเพียงน้ำเท่านั้น ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ นั่นหมายถึงรายได้ของเกษตกรที่ลดลงด้วย ขณะที่เอาไปขายแบบรูดร่วง AA ใหญ่จัมโบ อยู่ที่กิโลกรัมละ 10-12 บาทเท่านั้น

สุดท้ายแล้ว ที่พึ่งสุดท้ายของเกษตรกร คือสิ่งศักสิทธิ์ อย่างน้อยก็เป็นที่พึ่งทางใจ ให้มีความหวังในการสู้ชีวิตเกษตรทำกิน ที่ต้นทุนทะยานสูงจนเริ่มไม่คุ้มกับราคาผลผลิต ที่ผันผวนขึ้นลงตลอดเวลา ในขณะที่ความหวังสุดท้ายอย่างภาครัฐ เกษตรกรแทบไม่อยากคาดหวัง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark