ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : แพงทั้งแผ่นดินไปถึงไหน?

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ปัญหาข้าวของแพงเป็นส่วนหนึ่งจากวิกฤตเงินเฟ้อ ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ 1 ในนั้น คือ ประเทศไทย ซึ่งนักวิชาการ TDRI มองว่า เราอาจต้องเผชิญปัญหาไปอีก 2-3 ปี ด้วยหลายปัจจัย ขณะที่วิกฤตเงินเฟ้อกระทบทั้งคนเป็นและคนตาย เศรษฐกิจครึ่งปีหลังควรรับมืออย่างไร เราจะตีตรงจุดเรื่องนี้กัน

สาเหตุที่ผู้คนเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น เป็นเพราะตัวเลขเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อพุ่งไปอยู่ที่ 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่กรกฎาคม 2561 ขณะที่มีปัจจัยลบหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน

เรามาไล่เรียงดูกันว่าสินค้าอะไรเริ่มขยับแล้วบ้าง ที่อาจนึกกันไม่ถึง คือ โลงศพที่ประกาศปรับขึ้นราคาไปช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ธุรกิจคนตายมีการปรับราคาขึ้น ซึ่งก็เป็นเพราะเจ้าของร้านขายโลงศพแบกรับราคาไม่ไหว จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้สิ่งของที่ใช้ในการประกอบศาสนพิธีทยอยพาเหรดปรับขึ้น ตั้งแต่ โกศ ดอกไม้จันทน์ การบูร ไปจนถึงค่าคนฉีดศพ เรียกว่าเดือดร้อนทั้งคนเป็นและคนตาย
 
ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเงินเฟ้อที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญ แต่มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อประเทศไทยเกิดจาก 2 ส่วน คือ เรื่องภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว โดยประกาศขึ้นดอกเบี้ย และอีก 1 ปัจจัย คือ สถานการณ์ยูเครน รัสเซีย ที่ยังมีประเด็นข้อพิพาทกันอยู่ ณ เวลานี้ และยังไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ TDRI บอกว่า ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เพราะเกิน 1-3% ซึ่งสิ่งที่น่ากังวล ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อทั่วโลก มีแนวทางควบคุมได้โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างน้อย 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง โดยสภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้จะไม่มาพร้อมสภาวะเงินฝืด เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน

ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างยูเครน และรัสเซีย เป็นอีก 1 ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อด้านพลังงาน ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบไปอีกนานเพียงใด แต่หากดูจากทิศทางและความรุนแรงคาดว่าน่าจะจบในเร็ว ๆ นี้ และจะส่งผลให้ปัญหาด้านพลังงานลดลง โดยใช้เวลาราว 1-2 ปี ซึ่งหากรวมกันทั้ง 2 ปัจจัย ไทยอาจเผชิญปัญหาเงินเฟ้อไปอีก 2-3 ปี

มีข้อน่ากังวล คือ แม้ประเทศไทยมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ภาคเกษตรดีขึ้น และภาคส่งออกที่ผ่านมาประเทศไทยฟื้นตัวได้จากเงินอดหนุนจากรัฐบาลมหาศาล แต่ปีนี้หากรัฐไม่อุดหนุนแล้ว เราอาจกลับไปป่วยหนักอีกครั้ง

นักวิชาการ TDRI ยังแนะนำด้วยว่า ในวิกฤตน้ำมัน และสินค้าแพง อาจหาทางออกโดยการเพิ่มค่าครองชีพ ซึ่งปัจจุบัน GDP โต 3-4% ก็ควรเพิ่มค่าแรงขึ้น 3% แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อ 6-7% ส่วนที่เหลืออาจให้ภาครัฐช่วยเหลือ และควรหาเงินอุดหนุนให้กลุ่มเปราะบาง อย่างผู้มีรายได้น้อย เด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยเรียกวิธีนี้ว่า กลไกเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ให้กลุ่มคนกลุ่มนี้อยู่ได้ในวิกฤตเงินเฟ้อครั้งนี้ด้วย

ส่วนปัญหาเรื่องเงินของรัฐบาลว่าจะมีพอใช้หรือไม่ ตามกฎหมายเราสามารถก่อหนี้ได้ ขยายเป็นร้อยละ 70 ของ GDP ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 62% นั่นหมายถึง 8% ของขนาดธุรกิจขนาด 16 ล้านล้านบาท ยังกู้ได้อีกเป็นล้านล้านบาท แต่จากสัญญาณที่รัฐบาลส่งมา ยังไม่เห็นว่าภาครัฐจะมีความพยายามกู้เงินออกมา หลังจากที่กู้ไปแล้ว 2 รอบ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจมองได้ 2 แง่ คือ รัฐมองว่าเศรษฐกิจดีแล้วจริง ๆ หรือเป็นเรื่องการเมือง

มีคำแนะนำสำหรับการเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องบอกว่าเข้าถึงทุกครัวเรือนว่า ประชาชนต้องรู้จักปรับตัว ที่สำคัญภาคธุรกิจขนาดเล็กต้องสามัคคีกัน ไม่ให้กลุ่มทุนในประเทศ หรือกลุ่มทุนต่างชาติมากว้านซื้อธุรกิจ จนกลายเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพราะจะกลายเป็นการผูกขาด แต่ในความโชคร้าย เรายังมีโชคดี เพราะเงินเฟ้อของประเทศไทยยังไม่วิกฤตเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว ศรีลังกา เพราะประเทศไทยไม่ได้นำเข้าอย่างเดียว แต่ยังมีภาคส่งออกที่ทำให้เกิดการเฉลี่ยทางเศรษฐกิจด้วย

ขณะที่ มุมมองของภาคเอกชน มองด้านบวกของประเทศไม่แตกต่างจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ประเทศไทยจะฟื้นตัวด้วยตัวเอง เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไทยจะไม่วิกฤตเท่า สปป.ลาว เนื่องจากมีเครื่องยนต์ 3 ตัว คือ ภาคการส่งออก ที่ผ่านมา 4 เดือน เรามีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 17% ปีนี้อีก 14% แม้สถานการณ์โลกยังไม่นิ่ง แต่ก็คาดว่าส่งออกน่าจะไม่ต่ำกว่า 6%

ข้อกังวลที่ยังไม่คลี่คลาย คือ ราคาน้ำมัน และพลังงาน จะอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะดีเซลอาจถึง 40 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลกระทบต้นทุนและค่าครองชีพของประชาชน หรือการเดินทาง ส่วนสาเหตุที่น้ำมันราคายังสูง เชื่อว่าเกิดจากจีนที่หลังปลดล็อกผ่อนคลายโควิด จะเริ่มพัฒนาประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรม ทุกอย่างต้องใช้น้ำมันมากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่าวิกฤตซ้อนวิกฤต

ส่วนภาคเกษตร ราคาดีขึ้นจากปีที่แล้ว ดินฟ้าอากาศเอื้อให้ภาคการส่งออก ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมน่าจะดีมากพอสมควร และด้านการท่องเที่ยวปีนี้ โรคระบาดสร้างความกังวลน้อยลง ทำให้คนกล้าเดินทาง ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 400,000 คน โดยปีนี้คาดว่า 5-6 ล้านคน สามารถทำให้มีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจใน 1 เดือน ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านต่อเดือน

อีก 1 ข้อกังวล คือ ค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาลเองควรปรับค่าแรงขั้นต่ำให้กับตลาดแรงงาน เพราะไม่เช่นนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ไม่ได้ แม้รัฐจะมีมาตรการเยียวยา ประชาชนที่มีรายได้น้อย ภาคเอกชนต้องทำงานกับภาครัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่เดือดร้อนมาก ขณะเดียวกันก็หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปกติการทำธุรกิจถ้าผู้บริโภค ผู้ประกอบการ อะไรที่เป็นขาขึ้น สินค้าทุกอย่างจะมีความต้องการ และแน่นอนว่าราคาจะไม่ลดลงในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ช่วยกันในช่วงที่มีวิกฤต

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark