ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดข้อเสนอแก้ปัญหาไร้ผู้ประมูลสัมปทานรังนก จ.ชุมพร

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ยังเกาะติดปัญหาสัมปทานรังนกอีแอ่นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งไร้เอกชนยื่นสัมปทานมาร่วม 4 ปี จะมีทางออกอย่างไรให้ท้องถิ่นกลับมามีรายได้ ติดตามจากคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

นี่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ อดีตผู้ว่าฯ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งลงพื้นที่ร่วมกับกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามการแก้ปัญหาการจัดเก็บสัมปทานรังนกของพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่ร้างราบริษัทเอกชนยื่นสัมปทานรังนกมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปี  เสนอเพื่อให้คิดนอกกรอบ แทนการรอเอกชนมาสัมปทาน ก็ให้จังหวัดดำเนินการเอง โดยหยิบยกความสำเร็จในการบริหารราชการท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มาเป็นต้นแบบ หลังเผชิญปัญหาไร้ผู้ประมูลสัมปทานรังนกเช่นกัน

อีกปัญหาที่เกิดคู่กันคือ ในขณะที่ท้องถิ่นขาดรายได้ เพราะไร้ผู้ประมูลสัมปทาน ยังมีรายจ่ายที่ยังเดินต่อเนื่อง ทั้งค่าบริหารจัดการของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น ซึ่งพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึงรอบละ 200,000 บาท และยังต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดหาอาสาสมัครไปเฝ้าถ้ำ รวมถึงการเสียโอกาสของท้องถิ่นที่จะนำเงินจากอากรรังนก ที่เคยเก็บกันได้ปีละ 4 ครั้ง จึงมีข้อเสนอให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเกาะรังนก ในรูปแบบคณะกรรมการท้องถิ่น และทยอยจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาพัฒนา

ข้อเสนอนี้ตรงกลับแนวความคิดของ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ที่มองว่าหากจัดเก็บรังนกตามกรอบเวลาขึ้นมาไว้บนฝั่ง และทยอยขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่เพียงจะรักษาวงจรชีวิตนกให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่จะมายื่นสัมปทานครั้งต่อไป ได้เห็นจุดคุ้มทุนในอนาคตได้ด้วย

การลงพื้นที่ของกรรมาธิการ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ยังมีการหารือข้อเสนอที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ควรให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดเก็บรังนก หรือการเฝ้าถ้ำเพื่อความโปร่งใส ป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

การบริหารจัดการรังนกอีแอ่น ซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญของท้องถิ่น นอกจากต้องทำให้กลับมามีรายได้แล้ว ยังต้องติดตามตรวจสอบปมที่มีการกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทำท้องถิ่นเสียรายได้ จากการค้างจ่ายเงินของเอกชนด้วย เป็นอย่างไร ติดตามต่อในข่าวภาคค่ำ พรุ่งนี้ (30 มิ.ย.)

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark