ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : บอกลาโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น

เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลังจากที่ผ่านมา เรามีมาตรการหลบภัยจากโรคโควิด-19 กันมานานเกือบ 3 ปี กระทั่งล่าสุด ศบค. ตัดสินใจบอกลา เดินหน้าปลดล็อกกิจกรรมเพื่อกู้วิกฤต โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนให้กลับมาดีขึ้น จะมีมาตรการไหนปรับเปลี่ยน มาตรการใดยังอยู่ ตีตรงจุด ตรวจสอบไปพร้อมกัน

เป็นการเริ่มต้นประกาศบอกลา หรือบอกว่าจากนี้ไปจะอยู่กับโควิด-19 อย่างจริงจัง โดยจะใช้ชีวิตปกติตามวิถีใหม่พร้อมกันทั่วประเทศในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งจะเริ่มวันพรุ่งนี้ (1 ก.ค.) แต่บางส่วนก็ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการปลดล็อกกิจกรรมเพิ่มเติม นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้คนไทยทุกภาคส่วนดีใจเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะกิจกรรมธุรกิจภาคกลางคืน ไม่ว่าจะ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ที่ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อโรคระบาด เนื่องจากคนต้องทำกิจกรรมมีความใกล้ชิดกัน ทั้งการดื่ม, รับประทานอาหาร และพูดคุยกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความระมัดระวังป้องกันโรค ก็เริ่มเห็นทิศทางการดำเนินชีวิตที่จะมีรายได้ไว้ใช้จับจ่ายผ่อนหนักให้เบาขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านการเงินในกระเป๋า

เมื่อตรวจสอบว่ามีเรื่องใดบ้างที่ ศบค. คลายล็อกกิจกรรมทั่วประเทศ จะพบว่าเรื่องสำคัญ คือ มาตรการสวมหน้ากากที่ให้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่ยังแนะนำกลุ่ม 608 หรือ กลุ่มผู้สูงอายุ, ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากไว้เมื่ออยู่รวมกับบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงบุคคลที่อยู่ในอาคาร, สถานที่แออัด หรือสถานที่ภายนอกแต่ต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากก็ให้สวมหน้ากากไว้ด้วย ส่วนการถอดหน้ากากฯ นั้น ก็ยึดหลักง่าย ๆ คือ อยู่คนเดียว รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย

ขณะที่การบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิง ก็ให้ทำได้ และให้เปิดบริการได้ถึง 02.00 น. โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
 
รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวก็ผ่อนคลายให้ดำเนินการได้ตามปกติ ตลอดจนการผ่อนปรนการถ่ายรายการ ถ่ายภาพยนตร์ ที่ดำเนินการได้ แต่ทุกคนต้องฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ ผู้ปฏิบัติงานในกองถ่ายทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนผู้ปฏิบัติงานหน้าฉาก อาทิ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร นักแสดง แขกรับเชิญ ถอดหน้ากากได้เมื่อปฏิบัติหน้าที่หน้าฉากเท่านั้น

อีกด้านสำคัญ คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่นับจากวันพรุ่งนี้ (1 ก.ค.) การเดินทางเข้าประเทศไทยก็จะยกเลิก Thailand Pass ทั้งในกลุ่มคนไทย และชาวต่างชาติ แต่ยังคงต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดส หรือ ผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ และยกเลิกการกำหนดเงินประกัน เพื่อดึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวให้กลับมา

จากที่เคยได้รับโดยก่อนโควิด-19 หรือปี 2562 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึงกว่า 1.93 ล้านล้านบาท แต่หลังเกิดโควิด-19 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดลงทั้งปี 2563 ลดลงเหลือเพียงกว่า 3.3 แสนล้านบาท และปี 2564 เหลือเพียง 2.4 หมื่นล้านบาท เท่านั้น

แม้ว่าการปลดล็อกกิจกรรมจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนนี้ แต่ด้านการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยคุมโรคระบาด รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ รอพิจารณาตามสถานการณ์อีกครั้งว่าจะยุติหรือขยายต่อไปหรือไม่

ขณะที่ การรักษาเมื่อติดโควิด-19 จะปรับไปใช้ระบบ "เจอ แจก จบ" แทนเป็นส่วนใหญ่ก่อน ส่วนระบบรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation ยังสำรองไว้ ซึ่งผู้เจ็บป่วยจะให้รักษาพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ไปแล้วกว่า 1.4 แสนล้านบาท

ก็เป็นความคืบหน้าในการก้าวต่อไปของคนในสังคมไทยตามวิถีชีวิตใหม่ กับโรคโควิด-19 ซึ่งวันพรุ่งนี้ (1 ก.ค.) จะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ และเตรียมจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แม้จะมีแนวโน้มที่การติดเชื้อจะดีดตัวกลับมาอีกขณะนี้
 
จึงต้องย้ำกันว่า การป้องกันตัวเองตามเกณฑ์ Universal Prevention หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนตามกำหนด ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องใส่ใจร่วมกันป้องกัน เพื่อไม่ถูกโควิด-19 น็อกจนต้องปิดกิจกรรม ปิดเมืองกันเหมือนในอดีต

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark