ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : วันเสาร์เฝ้าเศรษฐกิจ กรกฎาคมสาหัส วิกฤตปากท้อง

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 สุดสัปดาห์ เราเปลี่ยนแนวจากการเมืองทั้งสองวัน มาเป็นวันเสาร์เศรษฐกิจ วันอาทิตย์เกาะติดความเคลื่อนไหวการเมือง เพิ่มอรรถรสให้คุณผู้ชมได้รับทราบข้อมูลสำคัญเพิ่ม เริ่มเสาร์แรกกับ กรกฎาคมสาหัส วิกฤตปากท้อง เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

แม้เดือนนี้จะเป็นเดือนเริ่มต้นของการขยายมาตรการค่าครองชีพรอบใหม่ ต่อไปอีกสามเดือน จนถึงสิ้นกันยายนนี้ อาทิ การตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวี ไว้ที่ 15 บาท 59 สตางค์ ต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ถือบัตรคนจน และการเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ถือบัตรคนจน 100 บาทต่อเดือน แต่ก็เป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่ได้ทุกคน

ขณะที่การพุ่งขึ้นทั้งราคาสินค้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ไม่มีเลือกกลุ่ม เจอกันหมดถ้วนหน้า เดือนนี้ก๊าซหุงต้มเพิ่มอีก 15 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 378 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่วนน้ำมันดีเซลรัฐก็ตรึงต่อไม่ไหวทะลุ 35 บาทต่อลิตรเช่นเดียวกัน โดยกูรูด้านเศรษฐกิจคาดการณ์ อาจได้เห็นดีเซลราคา 40 บาทต่อลิตร

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทย เหลืออัตราเติบโตเพียงแค่ 2.9% ต่อจีดีพีเท่านั้น โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าไทยจะเผชิญกับปัญหาปากท้อง และเงินเฟ้อยาวนานอย่างน้อย 1-1 ปีครึ่ง ที่น่ากังวลคือ ภาครัฐยังไร้ความชัดเจนที่จะอัดเงินเข้าอุดหนุน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปป่วยหนักอีกครั้ง

ภาวะแบบนี้หลายฝ่ายพูดตรงกัน ต้องขึ้นค่าแรง แต่จนถึงวันนี้ การเคาะค่าแรงใหม่ แม้จะเกิดขึ้นแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่จะมีผลบังคับใช้จริงต้องรออีก 3 เดือน โดยได้เฉพาะ 16 สาขาอาชีพ ที่กำหนดเท่านั้น

มีคำแนะนำสำหรับการเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องบอกว่าเข้าถึงทุกครัวเรือนว่า ประชาชนต้องรู้จักปรับตัว ที่สำคัญภาคธุรกิจขนาดเล็กต้องสามัคคีกัน ไม่ให้กลุ่มทุนในประเทศ หรือกลุ่มทุนต่างชาติ มากว้านซื้อธุรกิจ จนกลายเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพราะจะกลายเป็นการผูกขาด แต่ในความโชคร้าย เรายังมีโชคดี เงินเฟ้อของประเทศไทย ไม่วิกฤตเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว, ศรีลังกา เพราะประเทศไทยไม่ได้นำเข้าอย่างเดียว แต่ยังมีภาคส่งออกด้วย โดยที่ผ่านมา 4 เดือน เรามีการส่งออกเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์โลกยังไม่นิ่ง แต่ก็คาดว่าส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ที่ 20% อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านบวกจากการท่องเที่ยว หลังรัฐบาลปลดล็อกให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นด้วย

ครึ่งปีหลังต่อจากนี้ แม้มีปัจจัยบวก แต่ปัจจัยลบก็ยังไม่ลด ที่คาดหวังเศรษฐกิจจะฟื้นจากการเปิดประเทศ อาจไม่เป็นไปตามคาดอย่างเต็มที่ เพราะความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย ยูเครน พิษราคาน้ำมันพุ่ง และวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่าย ๆ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark