ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : วันแรก ปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วม 5 สตางค์/กิโลเมตร

เช้านี้ที่หมอชิต - วันนี้ (4 ก.ค.) ดีเดย์วันแรกปรับขึ้นราคารถร่วม บขส. โดยขึ้นราคากิโลเมตรละ 5 สตางค์ ราคาที่เพิ่มขึ้นสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการแล้วหรือไม่ แล้วประชาชนที่ต้องจ่ายมากกว่าเดิมมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร ตีตรงจุดส่ง คุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด ลงพื้นที่ไปติดตามกัน

ในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ อะไร ๆ ก็แพงไปหมด ขึ้นราคาทุกอย่าง อย่างวันนี้ดีเดย์วันแรก ขึ้นค่าโดยสารรถร่วม 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร หลังจากนี้ค่ารถจะไม่ถูกอีกต่อไป เพราะยื้อไม่ไหว ราคาปรับขึ้นเอา ปรับขึ้นเอา ภาระไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่ประชาชนสิ ต้องจ่ายค่าเดินทางเพิ่มขึ้น ไกลสุดนี่อาจเตะที่หลักร้อยเลยทีเดียว เราไปฟังเสียงสะท้อนของคนเดินทางกันหน่อย ว่าวันนี้วันแรก ต้องจ่ายแพง เป็นยังไงกันบ้าง เดือดร้อนอะไรยังไง

สำหรับหลายคนที่สงสัยว่าเขาปรับยังไง เพื่อให้เห็นภาพชัด คือ การปรับในวันนี้จะมีการปรับรถ 2 หมวด ด้วยกัน คือ รถที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด และรถที่วิ่งระหว่างต่างจังหวัดกับต่างจังหวัด หรือ อำเภอกับอำเภอ จะปรับขึ้นในราคากิโลเมตรละ 5 สตางค์

บางคนบอกขึ้นกิโลเมตรละ 5 สตางค์ กับราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก ถือว่าการปรับขึ้นน้อยมาก ประชาชนไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรหรอก พอคำนวณเป็นหลักกิโลฯ ก็ถือว่าน้อย แต่ส่วนใหญ่การเดินทางเป็นร้อย ๆ กิโล คิดง่าย ๆ เลย คือ ถ้าเรานั่ง 100 กิโลเมตร จะเพิ่มค่าโดยสาร 5 บาท ถ้านั่ง 800 กิโลเมตร ก็ต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มไป 40 บาท จากที่เคยนั่ง สำหรับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำนี่ไม่น้อยเลย เพราะเท่ากับว่าเราต้องเสียค่าข้าวไป 1 มื้อ เลยทีเดียว
 
นี่คือภาระที่ประชาชนต้องแบกรับในสภาวะราคาน้ำมันแพง แต่อีกกลุ่มบุคคลที่เดือดร้อนไม่ต่างกันนั้น คือ ผู้ประกอบการ เราสอบถามไปหลายเจ้า บอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ขึ้น 5 สตางค์ ไม่พอหรอก เพราะต้นทุนสูงมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ขึ้นเลย

เมื่อรถร่วมขึ้นราคา หลายคนมองว่าก็มาขึ้นรถ บขส. แทนสิ เพราะยังคงตรึงราคาไม่ปรับขึ้นไปอีก 3 เดือน นับจากนี้ แต่จากการสอบถาม นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ยอมรับว่า ตอนนี้ บขส. ขาดทุนเดือนละ 50-60 ล้านบาท เฉพาะเดือนมิถุนายนขาดทุนเพิ่มกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีเม็ดเงินหมุนในระบบที่สามารถเสริมสภาพคล่องได้ราว 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแบกรับภาระไปได้ถึงเดือนกันยายนปีหน้า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องยื่นกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง

จะราคาขึ้นยังไงในฐานะประชาชนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องควักสตางค์จ่าย ค่อยไปหาลู่ทางปรับลดค่าใช้จ่ายเอา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark