ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ครอบครัวผู้เสียชีวิตโควิด-19 เพราะ รพ.ปฏิเสธรักษา ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 6 ล้าน 5 หมื่นบ

เช้านี้ที่หมอชิต - ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19  เพราะถูกโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งย่านคลองตัน ปฏิเสธการรักษา ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย จนทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า ยื่นฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาล รวมทั้ง สปสช. และ รมว.สาธารณสุข รวมกว่า 6,050,000 บาท

ครอบครัวและญาติ ๆ ของ นางประไพ สาพันธ์ ร่วมกันทำบุญเนื่องในวันครบรอบเสียชีวิต 1 ปี หลังนางประไพ ติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงพยาบาลไม่รับรักษา ทำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที จนเสียชีวิตในที่สุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564

โดยลูกสาวของนางประไพ เล่าว่า แม่ติดเชื้อจากการดูแลยายที่ป่วยโควิด-19 โดยเริ่มมีอาการไอ เหนื่อยหอบ มีไข้ ท้องเสีย จึงพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านคลองตัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งแม่มีสิทธิบัตรทองอยู่ แต่โรงพยาบาลอ้างว่าน้ำยาตรวจโควิดหมด ตรวจอาการให้เบื้องต้นแล้วให้กลับบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านอีก 2 วัน แม่อาการเริ่มทรุดหนัก จึงกลับไปที่โรงพยาบาลเดิม เพื่อขอตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม คือน้ำยาตรวจโควิดไม่มี และไม่ให้เข้าตึก ต้องนั่งรถเข็นรอด้านนอกอาคารในสภาพที่แม่อาการทรุด เดินแทบไม่ไหวแล้ว เจ้าหน้าที่ฉีดยาให้ 1 เข็ม ให้น้ำเกลือ แล้ว่ให้กลับบ้าน ซึ่งแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าแม่ถือเป็นผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง เพราะยายเพิ่งเสียชีวิตจากการติดโควิด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมตรวจหาเชื้อให้   

การที่โรงพยาบาลไม่ยอมรับเข้ารักษา และไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิดให้ ทำให้เธอและครอบครัวไม่สามารถพาแม่ไปรักษาต่อที่อื่นได้ เพราะต้องมีผลตรวจยืนยันเพื่อส่งตัวจากโรงพยาบาล

จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีหน่วยให้บริการตรวจเชิงรุกมาให้บริการแถวบ้าน เธอจึงพาแม่ไปตรวจ และทราบผลยืนยันว่าแม่ติดเชื้อ ในวันที่ 29 มิถุนายน จึงพยายามประสานหาเตียง แต่ก็ไม่สามารถหาได้ จนกระทั่งวันถัดมาแม่เสียชีวิตในบ้าน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โรงพยาบาลโทรมาแจ้งว่าจะส่งรถมารับแม่ไปรักษาตัว แต่ทุกอย่างก็สายไปหมดแล้ว

ขณะที่ นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา กล่าวว่า โรงพยาบาลที่ปฏิเสธการรักษา มีข้อผูกพันกับผู้ป่วยโดยตรงตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นต้องทำการรักษาผู้ป่วยให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งกระทรวงสาธารณะสุขได้ออกประกาศไว้ว่าเป็นโรคติดเชื้อฉุกเฉิน ต้องตรวจรักษาและรับไว้หากมีอาการรุนแรง แต่หากไม่มีความพร้อม ก็ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น โดยไม่สามารถปฏิเสธการตรวจได้ เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโรงพยาบาลอย่างไม่น่าให้อภัย การที่โรงพยาบาลให้เหตุผลว่าไม่มีน้ำยาตรวจ จึงฟังไม่ขึ้น

ซึ่งขณะนี้ครอบครัวได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายกับแพทย์ตรวจรักษาทั้ง 2 ครั้ง, โรงพยาบาลเอกชนที่ปฏิเสธการรักษา, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมให้เคร่งครัด โดยมีการยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เรียกค่าเสียหายรวม  6,050,000 บาท และศาลแพ่ง รัชดา นัดสืบพยาน 29 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น.

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark