คลิปที่เกี่ยวข้อง

โควิด-19 สายพันธุ์ BA.5 ร้าย ลงปอด

เช้านี้ที่หมอชิต - ในประเทศไทยยังถกเถียงกันอยู่ว่า ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 มีฤทธิ์รุนแรงกว่า BA.1 และ BA.2 หรือไม่ แต่ที่ ออสเตรเลีย มีงานวิจัยว่า BA.5 มีการปรับตัวกลับมาใช้กลไกเดิมเหมือนเดลตา หรือใช้กลไกใหม่ที่ผสม ๆ กันระหว่าง เดลต้า กับ โอมิครอน ที่ส่งผลให้เข้าเซลล์อย่างเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ติดง่ายแต่อาการไม่หนัก ก็ไม่ควรประมาท

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทีมวิจัยในออสเตรเลียได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของไวรัส BA.5 เทียบกับ BA.1 และ BA.2 ในห้องปฏิบัติการ และพบว่า ไวรัส BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเข้าสู่เซลล์ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายทีมวิจัยพบว่า โอมิครอน โดยเฉพาะ BA.1 อาจจะติดเซลล์ปอดได้น้อยกว่าเดลตา เพราะโอมิครอนใช้วิธีเข้าเซลล์ไม่เหมือนเดลตา ซึ่งเซลล์ปอดจะเข้ายากกว่าเดิมด้วยกลไกที่ BA.1 ใช้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่ช่วยให้ความรุนแรงของไวรัสลดลงได้ในระดับหนึ่ง

ผลการศึกษาของทีมออสเตรเลีย พบว่า BA.5 อาจจะปรับตัวเองให้กลับมาใช้กลไกเดิมเหมือนเดลตา หรือใช้กลไกใหม่ที่ผสม ๆ กันระหว่างเดลตา กับ โอมิครอน ที่ส่งผลให้เข้าเซลล์อย่างเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น เป็นข้อมูลที่บอกว่า BA.1 เปลี่ยนได้ BA.5 ก็เปลี่ยนกลับได้ ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ได้กับไวรัสที่มีโอกาสติดโฮสต์ได้มหาศาลขนาดนี้ กลไกใด ๆ ที่ช่วยให้ไวรัสอยู่รอด เพิ่มจำนวนได้ดีที่สุด ไวรัสจะปรับตัวเองไปทางนั้น ความรุนแรงเป็นของแถมจะมากขึ้นหรือน้อยลงตอบอะไรไม่ได้

ดร.อนันต์ ยังเตือนด้วยว่า มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และขัดจากความเชื่อเดิม ๆ ว่า ไวรัสจะปรับเปลี่ยนไปแบบเดิมที่เชื่อกัน ถ้าเราปรับทันจะช่วยให้ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน 

ขณะที่ การเฝ้าระวังการระบาดโอมิครอนระลอกใหม่ ในช่วงวันที่ 2-8 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่พบการติดเชื้อเป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ถึง 78.4% ส่วนในกรุงเทพมหานคร พบมาก 72.3% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า และแซงสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1 ไปแล้ว

ส่วนเรื่องความรุนแรงของ BA.4/BA.5 ได้สุ่มตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ พบว่า คนที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนต้องเข้าโรงพยาบาล ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต พบเป็น BA.4/BA.5 อยู่ 77% ส่วนภูมิภาค คนที่อาการรุนแรง เป็น BA.4/BA.5 อยู่ที่ 46.67%

สรุปเป็นข้อมูลเบื้องต้น โอมิครอนระลอกใหม่ สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในไทยตอนนี้ น่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ระบาดตอนต้นปี
 
พรุ่งนี้จะเป็นวันแรกของการหยุดยาว ตั้งแต่ 13-17 กรกฎาคม ก็ต้องย้ำกันอีกครั้ง ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก

สถานการณ์ที่ดูมีทิศทางที่การติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวนี้ นอกจากคำเตือนไม่ประมาทการ์ดอย่าตกแล้ว ล่าสุด มีข่าวยารักษาโควิด-19 เช่น โมลนูพิราเวียร์ เกลื่อนตลาดมืด มีโฆษณาแอบอ้างขายยาในตลาดมืด หรือการจำหน่ายนอกระบบที่ผิดกฎหมาย เช่น ซื้อออนไลน์ เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ถึงกับเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อยามากินเอง อาจเกิดอันตราย ทั้งการใช้ยาที่มากเกินขนาดและอาจทำให้เกิดการดื้อยา หรือทำให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ

นายกรัฐมนตรี บอกว่า หากติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เข้าสู่การรักษาตามระบบเพื่อความปลอดภัย เพราะการกินยาโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์อาจทำให้เกิดอันตราย พร้อมยังยืนยันว่า ระบบสาธารณสุขไทยมีเวชภัณฑ์เพียงพอสำหรับดูแลประชาชน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark