ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

หมอยง คาดโควิด-19 ระลอก 6 พีกเร็วในเดือนนี้ แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้า ไม่มีปิดประเทศแล้ว

ข่าวสังคม 14 กรกฎาคม 2565 - ห้องข่าวภาคเที่ยง - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ โควิด-19 ระลอกที่ 6 จะพีคสุดในช่วงปลายเดือนนี้

โควิด-19 ติดเชื้อใหม่รักษาใน รพ. 2,257 คน
ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล วันนี้มี 2,257 คน โดยผู้ป่วยสะสมนับจาก 1 มกราคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,329,746 คน ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษามี 24,191 คน ปอดอักเสบ 770 คน และเสียชีวิต 28 คน

หมอยง คาดโควิด-19 ระลอก 6 พีกเร็วในเดือนนี้
ศาตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ เป็นระลอกที่ 6 เป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 คาดว่า จะมีจุดสูงสุดของการระบาด ในช่วงปลายเดือนนี้ และตลอดเดือนหน้า (สิงหาคม) ซึ่งเดือนหน้า เป็นช่วงที่สถานศึกษาจะเปิดเทอม และคาดว่าจะเริ่มลดลงในช่วงปิดเทอม แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้า จะไม่มีการปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียนแล้ว เพราะทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ จะต้องเน้นไปที่มาตรการลดการติดเชื้อแทน

ถ้าคิดเป็นสัดส่วน จะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ น้อยกว่านั้น ส่วนอัตราการเสียชีวิต จะไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น ถึงแม้จะมีผู้ป่วยกว่าหมื่นคน แต่ที่ได้รับการรักษาและแจ้งยอดเข้าระบบ จะอยู่ที่ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน นั่นหมายความว่า อัตราการเสียชีวิตรายวัน จะเป็นยอดของผู้ติดเชื้อหลักหมื่น

ย้ำว่า กลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่ เพื่อลดอาการ ถ้าติดเชื้อ แม้จะมีอาการน้อย ก็ควรจะได้รับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพื่อลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิต

WHO ชี้ โควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ออกมาเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไปไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการระบาด แม้จะแพร่ระบาดมาเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปีครึ่งแล้วก็ตาม โดยชี้ว่า ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่เป็นคลื่นการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ การตรวจสอบคัดกรองผู้ติดเชื้อ ที่ในปัจจุบันมีอัตราลดลงอย่างมาก จนทำให้ยากต่อการควบคุมและระบุความรุนแรงของเชื้อกลายพันธุ์

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 2563 ซึ่งในปัจจุบัน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเกือบ 564 ล้านคน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark