ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

จากปัญหาขาดแคลนครู สู่ความเหลื่อมล้ำ ระบบการศึกษาไทย

เช้านี้ที่หมอชิต - สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคลิปหนึ่งที่โด่งดังและสร้างรอยยิ้มบนโลกโซเชียล เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสเห็น คือคลิปที่คณะครูรำแก้บน เพราะได้บนบานศาลกล่าวไว้ ขอให้ได้ครูชายมาบรรจุที่โรงเรียน

นี่เป็นคลิปวิดีโอที่เรียกรอยยิ้มให้กับคนที่ได้ชม เพราะลีลารำแก้บนของคุณครูหญิง โรงเรียนวัดห้วยเสือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ผู้อำนวยการ และคณะครู ที่รำรอบโบสถ์ 9 รอบ เพื่อแก้บน หลังสมหวังได้ครูคณิตศาสตร์ ที่เป็นผู้ชายมาช่วยงานที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีแต่ครูผู้หญิง 

แต่ในความน่ารักที่เรียกรอยยิ้มได้นี้ เหตุผลที่ฟังแล้วทำให้หลายคนอึ้งไม่น้อย เพราะที่โรงเรียนนี้มีครูแค่ 6 คน นักเรียน 60 คน แต่ไม่มีครูผู้ชายมานานเกือบ 3 ปี งานทุกอย่างเป็นครูผู้หญิงทำทั้งหมด ทั้งที่บางอย่างคุณครูผู้หญิงก็ไม่ถนัด แต่ก็ต้องทำ

ฟังแล้วน่าเห็นใจอาชีพครู ที่มีภาระหน้าที่มากกว่าสอนหนังสือ โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็ก อีกกรณีคือ ครูสาวท่านหนึ่งที่ตัดสินใจลาออก เพราะงานเอกสารเบียดเวลาสอน เธอแบ่งปันเรื่องราวชีวิตครูที่ต้องแบกงานเอกสาร จนไม่มีเวลาเตรียมสอน และพัฒนาตัวเอง จนตัดสินใจลาออก โดยงานเอกสารที่ซ้ำซ้อน นอกจากไม่พัฒนาครู และยังช่วงชิงเวลาครูจากนักเรียน ทั้งที่ความสุขของการทำงานในโรงเรียนคือ งานสอน "เราอยากเป็นครูที่มีเวลาพัฒนาตนเองจริง ๆ เพื่อที่จะไปพัฒนาการสอน พัตนานักเรียน ไม่ใช่มาบังคับให้เราเข้าอบรมไปพร้อม ๆ กับสอนเด็ก"

เธอเสนอว่าลดการประเมิน และลดภาระงานเอกสารลง ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ควรทำโครงการคืนครูสู่ห้องเรียน ให้เป็นการพัฒนาคุณภาพคน ไม่ใช่พัฒนาเอกสารและประเมิน

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก วันนั้นเมื่อฉันสอน ของครูคนหนึ่ง ที่สอนโรงเรียนในชนบท สะท้อนบทบาทครูในปัจจุบัน ที่มีหน้าที่มากกว่าสอนเด็กไว้น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะการเป็นครูผู้ชายคนเดียวในโรงเรียน ที่ต้องเจออะไรบ้าง

อย่างต้องอยู่เวรกลางคืน 365 วัน และบันทึกเวรทุกวัน 365 หน้า ยังมีงานกีฬา เตรียมสนามแข่ง ฝึกซ้อมทีมฟุตบอล ตะกร้อ งานช่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า อะไรเสียต้องซ่อมได้ ไมค์ดังไม่ดังต้องรู้ งานดนตรีต้องเป็น งานภาคสนามออกแรงใช้กำลังต้องได้ รวมถึงงานศาสนา ประเคนของถวายพระ มีรถกระบะก็ให้วิ่งงานโรงเรียน

ไม่เฉพาะครูผู้ชาย ครูผู้หญิงก็ถูกคาดหวังไม่ต่างกัน เช่น ต้องรำเป็น จับจีบผ้าได้ พิธีการ พิธีกร เหล่านี้คือความคาดหวังว่าครูต้องเป็นทุกอย่าง แต่แทบไม่สนับสนุนให้ได้สอน เมื่อครูรุ่นใหม่เข้ามาเจอปัญหาแก้ไม่ตก ส่วนใหญ่ลาออก จนเกิดปัญหาขาดแคลนอาชีพครู

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรครู และภาระหน้าที่ครูมากกว่าการสอนหนังสือ ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านบอกว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ จะเป็นปัญหากับโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า เพราะมีอัตรากำลังครูน้อย แต่หากมองที่ตัวเลขสัดส่วนครู กับนักเรียนทั่วประเทศ ครูในสังกัด สพฐ. มีเกือบ 500,000 คน นักเรียนประมาณ 6.6 ล้านคน เท่ากับครู 1 คน ดูแลนักเรียน 13 คน ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงกว่าเกณฑ์ ครู 1 นักเรียน 20 คน จึงไม่สามารถเพิ่มอัตรากำลังครูได้ เกิดปัญหาครูต้องสอนหลายวิชา และช่วยงานต่าง ๆ ด้วย

แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก มีนโยบายพัฒนาและทำให้โรงเรียนมีขนาดเหมาะสม ระหว่างสัดส่วนนักเรียน กับครู ซึ่งจะช่วยให้กระจายหน้าที่ของครู และจัดสรรอัตรากำลังของครูให้มีความพอดีกับนักเรียนได้มากขึ้น

ล่าสุด กระทรวงเสนอปรับอัตราค่าตอบแทนพิเศษ ให้กับครูในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล และครูที่ต้องทำหน้าที่ 24 ชั่วโมง เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูการศึกษาสงเคราะห์ พร้อมเสนอให้ลดระยะเวลาดำรงวิทยฐานะจาก 4 ปี ให้เหลือแค่ 3 ปี เพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับครูกลุ่มนี้ ซึ่งเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอ ต่อที่ประชุม ครม. แล้ว

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark