ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ย้อนข้อมูล ดูเสียงสนับสนุน 10 รัฐมนตรี

เช้านี้ที่หมอชิต - เมื่อสักครู่เราเปิดข้อมูลเสียงสนับสนุนของนายกรัฐมนตรี ในศึกซักฟอกครั้งที่ 3 ไปแล้ว คราวนี้จะย้อนข้อมูลของ 10 รัฐมนตรีกันบ้าง ว่าก่อนหน้านี้ได้เสียงสนับสนุนอย่างไร มีคู่มือในการดูศึกซักฟอกครั้งนี้ให้สนุกอย่างไร

โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้ดังนี้ คือ ยืนหนึ่งมาเดี่ยวถูกอภิปรายมาแล้ว 3 ครั้ง ก็คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้ก็มีแต่สาละวันเตี้ยลงเสียด้วย ส่วนครั้งนี้ยังไม่มีใครรู้จะฝ่ากระแสปีนคะแนนสูงสุดที่จำนวนเท่าใด ในศึกซักฟอกครั้งที่ 4 นี้

คะแนนน้อยที่สุดคราวที่แล้ว คือ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้คะแนนไปแค่ 263 เสียง ถูกอภิปรายมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3

ซึ่งนอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะถูกอภิปรายมาแล้ว 2 ครั้ง ยังมีสองคนโตจากพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะถูกซักฟอกเป็นครั้งที่ 3 แถมเป็นคิวแรกในการชำแหละของฝ่ายค้านวันนี้ด้วย ซึ่งก็ยังต้องตามต่อว่าจะสอยนั่งร้านกันสำเร็จหรือไม่

ที่ขาดไม่ได้ถูกอภิปรายเป็นครั้งที่ 3 เหมือนกัน คือ สอง ป. พี่ใหญ่ พี่รองของพลเอกประยุทธ์ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแม้ที่ผ่านมาไม่เคยต้องหืดขึ้นคอกับการลุ้นคะแนน โดยเฉพาะพี่ใหญ่ที่มักได้คะแนนสูงสุด มาคราวนี้ เมื่อ ผู้กองธรรมนัส อำลานายเก่า ไปเป็นฝ่ายค้านอิสระแล้ว คะแนนที่เคยให้ด้วยใจรัก จะยังภักดีต่อหรือไม่ รู้กันวันที่ 23 กรกฎาคม

ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเป็นครั้งที่ 3 อีก 3 คนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนอีกคนจากพลังประชารัฐคือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ยังมีอีก 2 รัฐมนตรีน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดซิงถูกซักฟอกครั้งนี้เป็นครั้งแรก คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

มีคู่มือสำหรับการติดตามศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายของฝ่ายค้าน โดยมีการลำดับการอภิปราย 11 รัฐมนตรี ดังนี้ รัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถูกยื่นอภิปราย 2 คน เริ่มจากรองนายกฯ อนุทิน ต่อด้วยรัฐมนตรีสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกยื่นอภิปราย 3 คน จากนั้นเป็นคิวรัฐมนตรีในโควตาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 5 คน ปิดท้ายที่นายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของนายกฯ จะมีความพิเศษกว่าคนอื่นตรงที่แม้ถูกวางไว้ปิดท้าย แต่ก็อาจถูกพาดพิงตั้งแต่ต้นทางเช่นเดียวกัน เพียงแต่ของหนัก ฝ่ายค้านรอซัดวันสุดท้าย เพื่อก้าวให้ถึงเป้าหมาย ตามยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน

ซึ่งในส่วนของประชาธิปัตย์ อาจหนาว ๆ ร้อน ๆ มากหน่อย เพราะคนกันเองภายในพรรคอย่างน้อย 2 คน ออกมาแสดงจุดยืน พร้อมโหวตคว่ำ แม้เป็นรัฐมนตรีสังกัดพรรคตัวเอง คือ นายไชยยศ จิรเมธากร และ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ 2 สส.บัญชีรายชื่อ

ด้าน ผู้กองธรรมนัส แม้เมื่อวานซืนจะมีโอกาสเข้าพบนายเก่าอย่างบิ๊กป้อม แต่ดูเหมือนว่าจุดยืนยังไม่เปลี่ยน ประกาศขอโหวตตามฝ่ายค้านทั้งในส่วนของ 10 รัฐมนตรี และนายกฯ ไม่เว้นแม้กระทั่ง พลเอก ประวิตร แต่ที่พลาดไปคือ เที่ยวนี้ไม่ได้นั่งรถทัวร์ร่วมอภิปรายด้วย เพราะมาช้าเกินไป

ส่วนของ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ทางวิปรัฐบาลจัดสรรเวลาให้ชี้แจงคนละ 1 ชั่วโมง ขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ ได้รับการจัดสรรเวลาถึง 5 ชั่วโมง เพราะประเมินว่านายกฯ จะถูกอภิปรายพ่วง-พาดพิงเกือบตลอดเวลา

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ได้จัดเตรียม สส. อย่างน้อย 11 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น สส.หน้าใหม่ เป็นทีมองครักษ์พิทักษ์นายพล 3 ป. ตั้งชื่อว่า "ทีมปราบมาร" แต่คราวนี้ไร้ชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า พปชร. ร่วมทีม

ด้าน นายนิโรธ ประธานวิปรัฐบาล แจกแจงหน้าที่ของ 11 สส. เอาไว้ว่าไม่ได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อสกัดการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ต้องการให้การอภิปรายเป็นไปตามญัตติและข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งวันนี้ก็ต้องลุ้นด้วยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 จะได้ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมในครั้งนี้ด้วยหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark