ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : เดจาวู โควิด-19 ตายคาบ้าน-เตียงตึง-ยาไม่พอ?

เช้านี้ที่หมอชิต - กลายเป็นว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 กลับมาระบาดหนักขึ้น ในวันที่เราผ่อนคลายมาตรการเกือบทุกอย่าง ขณะที่สภาพน่าสลดที่เคยเกิดขึ้นในปี 2564 ก็เริ่มกลับมาให้เห็นอีกครั้ง ทั้งการเสียชีวิตคาบ้าน ติดเชื้อแล้วต้องออกไปนอนนอกบ้าน และยาไม่พอ ที่แตกต่างออกไปคือ ตัวเลขรายงานประจำวันที่ยังต่ำอย่างเหลือเชื่อ แต่ที่พุ่งไม่หยุดคือ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ภาวะเช่นนี้เตือนคนไทยอย่างไร รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มสลายซ้ำสอง ติดตามจากรายงานของคุณดารินทร์ หอวัฒนกุล

สถานการณ์ที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ทุกโรงพยาบาลใน กทม. รวมถึงปริมณฑล มีผู้ป่วยครองเตียงมากขึ้น อย่างเช่นที่โรงพยาบาลกลาง มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาเฉลี่ยวันละ 200-300 คน อีกทั้งยังมีผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่มีอาการหนักเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง

ไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ที่เดิมเคยคิดจะยุบวอร์ดโควิด-19 แต่สุดท้ายไม่สามารถทำได้ เพราะจำนวนผู้ป่วยยังเข้ารับการรักษาไม่ขาดสาย

แม้ว่าความรุนแรงของอาการป่วยโควิดในรอบนี้ จะไม่มากเท่ากับช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา แต่แนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากประสบการณ์การแพร่ระบาดหนักในปีที่แล้ว สะท้อนภาครัฐรับมือไม่ทัน เครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย

ล่าสุดตัวแทน 3 เพจดัง สายไหมต้องรอด, เส้นด้าย และเราต้องรอด เข้าพบผู้ว่าฯชัชชาติ เพื่อเสนอแนวทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการสะท้อนถึงปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วย ทั้งเรื่องของจำนวนเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ยาต้านไวรัสที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวกลุ่มเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ และการจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่รับรักษาในแต่ละวัน

ตัวแทนจิตอาสาภาคประชาชน ได้ร่วมกันเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ผ่านไปยังผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขอให้เปิดข้อมูลตัวเลขเตียงว่างที่แท้จริง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่จะรับเข้ารักษา การเปิดให้กลุ่มผู้ป่วย 608 เข้าถึงยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้มีอาการเป็นกลุ่มสีแดงก่อน และให้ภาครัฐเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ได้รับวัคซีนแล้ว ให้รักษาตัวเองที่บ้าน กินยาตามอาการ เพื่อลดอัตราการเดินทางไปที่โรงพยาบาล

ขณะที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจริงประมาณ 5,000-6,000 คน อีกทั้งพบปัญหาผู้ป่วยบางคนไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว แต่ปรากฏว่าเตียงเต็ม เพราะโรงพยาบาลใช้เตียงรักษาผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วย จึงต้องหาวิธีเกลี่ย พิจารณาความจำเป็นในการนอนรักษาที่โรงพยาบาล

บทสรุปของที่ประชุมในวันนี้ ยังนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติว่า หลังจากนี้ให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด สามารถนำข้อมูลให้คนในครอบครัวไปติดต่อรับยาแทนได้ และให้ขยายเวลาการเปิดให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุขใน กทม. เป็นจันทร์-เสาร์  ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยต่อวัน และกลุ่ม 608 สามารถไปรับยาต้านไวรัสได้จากโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. และศูนย์บริการ สธ. ได้ทุกแห่งที่ใกล้บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องไปสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

การประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ถือเป็นทิศทางที่ดีของความร่วมมือ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการระหว่างภาครัฐ และกลุ่มจิตอาสาภาคประชาชน ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การลดจำนวนผู้ป่วย และลดความรุนแรงของอาการที่จะเกิดขึ้น เพราะข้อมูลที่จิตอาสาเหล่านี้สะท้อนออกไป คือข้อมูลจริงที่มาจากประชาชน ที่อยากสะท้อนไปถึงภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการรับฟังอย่างจริงจัง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark