ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ฟาวิพิราเวียร์ ขาดแคลน อีกแล้ว?

เช้านี้ที่หมอชิต - กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง สำหรับการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาโรคโควิด-19 ว่ามีเพียงพอหรือไม่ โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาเปิดข้อมูลว่ายาชนิดนี้กำลังขาดแคลนอย่างหนัก และใกล้หมดประเทศภายในสัปดาห์หน้า เสนอเลิกผูกขาดการผลิตโดยองค์การเภสัชฯ เชื่อว่าจะช่วยยุติภาวะยาขาดแคลนได้

เมื่อวานนี้ เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความตอกย้ำปัญหาการขาดแคลน ยาฟาวิพิราวเียร์ และโมลนูพิราเวียร์ พร้อมข้อเสนอยุติการขาดแคลน ด้วยการให้รัฐบาลเลิกผูกขาดการผลิต และจัดหายาฟาวิฯไว้กับองค์การเภสัชกรรม เพราะสาเหตุที่ขาดแคลน เกิดจากการผูกขาด ดังนั้นเพียงกระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที บทเรียนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิด การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนได้

ในโพสต์ยังระบุด้วยว่า องค์การเภสัชกรรม ผลิตฟาวิพิราเวียร์ แบบกระพร่องกระแพร่งมาก และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า ดังนั้นเมื่อเลิกผูกขาดยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ปลดล็อกบริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ และรัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน เงินร่วม 4 พันล้านนี้ จะนำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาล สามารถประหยัดได้กว่ามาก ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมต้องซื้อล็อตใหญ่ แต่ราคากลับสูงกว่า

สอดคล้องกับคุณหมอฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่คาดจุดพีกสุดของผู้ป่วยติดเชื้อ อาจเร็วกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขระบุในเดือนสิงหาคม ดังนั้งจึงเริ่มเห็นปัญหายาฟาวิพิราเวียร์น้อยลง จนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 5,000-6,000 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยปอดอักเสบต้องเข้าโรงพยาบาลสูงถึง 803 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 378 คน ส่วนผู้เสียชีวิต 18 คน

กรมการแพทย์ จึงต่อยอดระบบการดูแล จาก "เจอ-แจก-จบ" ปรับมาเป็น "สแกน-แจก-จบ" ให้ผู้ป่วยสแกน QR code หรือโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงการรักษา โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์จะประเมินอาการผ่านระบบออนไลน์

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark