ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ภาวะลองโควิด ติดโควิด-19 อวัยวะเพศชายสั้นลง

เช้านี้ที่หมอชิต - โควิด-19 มีแต่โทษ และล่าสุดถือเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจคุณผู้ชายอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยจากต่างประเทศว่า ใครที่ติดโควิด-19 หลังจากหาย จะส่งผลถึงอวัยวะเพศ ทำให้เล็กลง ตอนแรกก็คงเบาใจ เพราะเป็นรายงานต่างประเทศ ล่าสุดเกิดขึ้นที่เมืองไทยแล้ว เพราะเพจหมอแล็บแพนด้า โพสต์ว่ามีคนไทยอวัยวะเพศสั้นลง หลังจากติดโควิด-19

ภาวะลองโควิด ติดโควิด-19 อวัยวะเพศชายสั้นลง
เกิดเป็นกระแสวิจารณ์อย่างมาก เมื่อลูกเพจ "หมอแล็บแพนด้า" ส่งข้อความมาปรึกษาว่า "ตัวเองเนี่ย น้องชายเล็กลง (อวัยวะเพศชาย) เพราะติดโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งข้อความบ่งบอกถึงความกังวล ว่าจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องปกติไหม และก็บอกด้วยว่า ไม่ใช่เล็กลง แต่สั้นลง"

เรื่องนี้ หมอแล็บแพนด้า อธิบายว่า มีรายงานว่าชาวอเมริกันติดโควิด-19 แล้วน้องชายสั้นลง 1-1.5 นิ้ว ตอนนี้เริ่มมีคนเจอกับตัวบ้างแล้ว มันเป็นอาการข้างเคียงของลองโควิด

และโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหา Erectile Dysfunction คือ ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณอวัยวะเพศ พอเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่ หรือยืดตัวไม่เต็มที่ เลยสั้นลงจนสังเกตได้ แต่ก็เป็นเฉพาะบางคน

ทีมข่าวสอบถามไปยัง นายแพทย์ศุภวัฒน์ ศิริคุปต์ นายแพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเปาโล ได้รับคำยืนยันว่า ลองโควิดส่งผลต่อเรื่องระบบเส้นเลือด เพราะจะมีการอักเสบ และส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ แต่ไม่เป็นทุกคน ส่วนจะส่งผลถึงขนาดของอวัยวะเพศหรือไม่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในประเทศไทย ที่ผ่านมามีเพียงสภาวะแข็งตัวตลอดเวลา

ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่า ถ้ามันเล็กลง หด หรือสั้นลงแล้ว จะกลับมาเหมือนเดิมได้ไหม คุณหมอก็มีคำตอบให้

ยืนยัน พบโควิค-19 BA.2.75 ครั้งแรก ที่ จ.ตรัง
อีกประเด็นของโควิด-19 ที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลย คือเราพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2.75 รายแรก เป็นชายอายุ 53 ปี อยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต และมีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นตรวจ RT-PCR พบติดเชื้อ และโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ และเมื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เป็นการค้นพบครั้งแรกในไทย หลังจากที่เคยระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย 

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงเชื้อไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อ องค์การอนามัยโลก จึงจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู ขณะที่ความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรง ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอ จึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป

ขอบคุณภาพจาก : Facebook Center for Medical Genomics

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark