ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ฝนตกหนักสะสม เกิดดินทรุด-บ้านถล่ม จ.พิจิตร

เช้านี้ที่หมอชิต - สถานการณ์น้ำยังไม่น่าไว้วางใจเพราะน้ำยังคงมาก จนกรมชลประทานต้องเร่งระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรับน้ำหลาก ป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ฝนตกหนักสะสม เกิดดินทรุด-บ้านถล่ม จ.พิจิตร
สภาพบ้านของ นางรังสิณีย์ ที่ค่อย ๆ ทรุดตัวจนพังลง และลอยไปกับสายน้ำ ซึ่งเกิดจากดินริมแม่น้ำน่านทรุดตัว ในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เคราะห์ดีขณะเกิดเหตุไม่อยู่บ้าน

จนผู้นำและเจ้าหน้าที่เทศมนตรีเมืองบางมูลนาก เร่งนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย ระดมรื้อบ้านอีก 2 หลัง ที่อยู่ติดกัน เพราะดินยังค่อย ๆ ทรุดตัวอยู่ และมีเสียงบ้านดังลั่นต่อเนื่อง ท่ามกลางเจ้าของบ้านเร่งขนทรัพย์สินมีค่าออกมา และไปอาศัยบ้านญาติก่อน

นายอรรณพ ตั้งกิตติถาวร รองนายกเทศมนตรีเมืองบางมูลนาก บอกว่า นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่เกิดเหตุลักษณะนี้ โดยมีต้นเหตุจากฝนตกหนักสะสม ทำให้ดินเปียกชุ่ม ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินร่วนปนทราย จึงเกิดการทรุดตัวดังกล่าว ทั้งนี้ การแก้ปัญหาระยะยาวจะเร่งทำการศึกษาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังต่อไป

เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ป้องกันน้ำท่วม
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน แจ้งว่า กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 60-80 เซนติเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา, ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน และหากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น จนทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ การระบายน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่า วันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ที่สถานีวัดระดับน้ำอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 900-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จะไหลผ่าน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะไหลมารวมกันลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ประมาณ 1,050-1,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงต้องปรับการระบายน้ำเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งเตือนประชาชน 11 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark