ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ลุงองอาจ ตระเวนยื่นขอรับสิทธิจากรัฐ จ.นครสวรรค์

เช้านี้ที่หมอชิต - ที่สุด ลุงองอาจ บุญฤทธิ์ ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกแจ้งเสียชีวิตมานานกว่า 12 ปี ก็ได้รับการช่วยเหลือ และได้รับบัตรประชาชนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) คุณลุงกล่าวทั้งน้ำตาด้วยความดีใจ บอกว่าเหมือนได้เกิดใหม่ และต่อจากนี้จะได้ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป

หลังจากที่คุณลุงองอาจ บุญฤทธิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับบัตรประชาชนไปเป็นที่เรียบร้อย และเจ้าหน้าที่คืนรายการทะเบียนบ้านให้ลุงองอาจเข้าทะเบียนราษฏร หลังจากที่ถูกแจ้งเสียชีวิตมากว่า 12 ปี คุณลุงเปิดเผยกับสื่อมวลชนทั้งน้ำตาว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนช่วยเหลือให้กลับมามีชีวิตใหม่

ทันทีที่ได้รับบัตรประชาชน คุณลุงองอาจ พร้อมครอบครัว เดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลพระนอน เพื่อยื่นแบบคำขอลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุของกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับเงินช่วยเหลือทุกเดือนเดือนละ 600 บาท แล้วเดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระนอน เพื่อรับสิทธิบัตรทอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลุงองอาจ มีข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบอยู่แล้ว จึงได้รับการคุ้มครองทันที

ถือว่าลุงองอาจ ได้โชคสองต่อ เพราะทาง อบต.พระนอน ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปทำถนนคอนกรีตจากบริเวณหน้าปากซอยเข้าไปถึงหน้าบ้านของลุง รวมระยะทาง 72 เมตร ซึ่งเป็นโครงการที่ของบประมาณมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในละแวกดังกล่าวให้เดินทางเข้า-ออกได้สะดวก

แต่ในแง่การรักษาสิทธิความเป็นคน การที่ต้องอยู่อย่างไร้ตัวตนของคุณลุงมา 12 ปี นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า อาจมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องมุมมองในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปรับปรุง เพราะจากการวิจัยพบว่า เจ้าหน้าที่จะมีอคติคนชายขอบ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับบริการที่ดี

กสม. ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีคนร้องเรียนเรื่องการดำเนินการล่าช้า และยังไม่ได้รับสิทธิจำนวนมาก ล่าสุดที่ระนอง มีคนไทย 21 คน ที่จู่ ๆ ก็ถูกจำหน่ายออกจากระบบ คล้ายของคุณลุง และขอทำเรื่องแก้เอกสาร เพื่อพัฒนาสถานะการเป็นคนไทย ซึ่งดำเนินการมา 10 ปี ก็ไม่คืบหน้า พอ กสม. ลงมาดู 1 เดือน ก็สามารถแก้ไขเอกสารได้ทันที

สำหรับประเทศไทยแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ ตั้งแต่ปี 2551 มีการแจ้งเกิดกว่า 10 ล้านคน และเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย 700,000 คน ให้สัญชาติไปแล้วกว่า 300,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ที่มีอยู่ราว 18,000 คน ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 12,000 คน

ขณะที่ปัญหาอยู่ที่จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียน โดยประเทศไทยมีสำนักทะเบียนอำเภอ 878 แห่ง และนายทะเบียนอำเภอมักจะถูกสั่งโยกย้ายบ่อยครั้ง ขาดพยานหลักฐานยืนยันตัวบุคคล ผู้ที่มาแจ้งมักไม่รู้ข้อกฎหมายระเบียบวิธีการ และเจ้าหน้าที่มีอคติชายขอบ

ข้อเสนอที่ กสม. ต้องการให้ปรับปรุงนโยบาย เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสั่งตรวจสอบกรณีคนไทยที่ยังไมไ่ด้สัญชาติ เพื่อจะได้รู้ปัญหาว่าไปกระจุกอำเภอไหนมากที่สุด และรัฐควรร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาร่วมกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark