ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ซ้ำซาก พฤติกรรมขับขี่รถขวางรถกู้ชีพ-กู้ภัย ทำผู้ป่วยอาการวิกฤตเสียชีวิต จ.นครศรีธรรมราช

ข่าวสังคม 28 กรกฎาคม 2565 - สนามข่าว 7 สี - ถ้าเอ่ยกันตามหลักพื้นฐานที่ต้องพึงมีเวลาขับขี่รถตามถนน แล้วไปเจอรถกู้ชีพ-กู้ภัย สิ่งแรกที่ควรยึดปฏิบัติต้องไม่ขับขี่กีดขวางเส้นทาง เพราะอาจส่งผลต่อผู้ป่วยในรถเผชิญภาวะวิกฤตและเสียชีวิตได้ อย่างเคสนี้ที่สนามข่าว 7 สี นำเสนอไป เกิดที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นประเด็นดรามาในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ช่วยพยาบาลหญิงคนหนึ่ง ขับรถกีดขวางรถกู้ภัย แต่กลับไปโพสต์ตำหนิรถกู้ภัยอย่างเสีย ๆ หาย ๆ

นี่เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเป็นภาพตอนช่วงขาไปที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังขับรถมุ่งหน้าจะไปรับผู้ป่วย ระหว่างทางยังไม่ทันถึงที่หมายก็มีรถยนต์ (สีเขียว) ขับแช่อยู่เลนขวา แม้เจ้าหน้าที่จะส่งสัญญาณบอก แต่คนขับเมินเฉย ไม่ยอมหลบให้ ท้ายที่สุดรถกู้ภัยต้องเป็นฝ่ายขับเบี่ยงเลนเสียเอง ซึ่งนี่เป็นคลิปกล้องหน้ารถของมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ ทุ่งสง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) นำมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้เห็นข้อเท็จจริงอีกมุม ที่ขับรถกีดขวางเส้นทางจนเป็นเหตุให้รถกู้ภัยไปถึงที่หมายรับผู้ป่วยคนหนึ่งที่อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างล่าช้า จนเป็นเหตุรับตัวผู้ป่วยส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทัน และเสียชีวิต

ซึ่งต่อมามีหญิงคนหนึ่ง เชื่อว่าเป็นคนขับรถยนต์ที่ขับขวางเส้นทาง นำเรื่องไปโพสต์เชิงตำหนิฝั่งกู้ภัยที่ขับรถด้วยความเร็ว ไม่เห็นใจ และไม่คิดถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ทำให้ทางกู้ภัยถูกมองถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน จึงนำคลิปนี้มาเปิดเผยให้ช่วยวิเคราะห์กัน เมื่อชาวเน็ตได้เห็นคลิปภาพกลับกลายเป็นว่า เรียกคณะทัวร์แวะจอด ด่าพฤติกรรมการขับรถของหญิงคนนี้ โดยชาวเน็ตบางคนต่อว่าแรง พฤติกรรมแย่มาก ไม่รับผิดชอบชีวิตผู้อื่นและสังคม

หนึ่งในเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ปฏิบัติงานในวันเกิดเหตุ เล่าเปิดไทม์ไลน์ เวลาประมาณ 15.20 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือว่ามีผู้ป่วยหมดสติ ปลุกไม่ตื่น ไม่รู้สึกตัว แต่ขณะนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่แน่ชัดผู้ป่วยหมดสติจากภาวะโรคอะไร รวมระยะทางจากจุดจอดรถไปที่บ้านผู้ป่วยประมาณ 15 กิโลเมตร โดยระหว่างทางเปิดไซเรนขอทางตลอด จู่ ๆ มีรถยนต์ (สีเขียว) ขับเลนขวา, ชะลอความเร็ว ตอนนั้นตนพยายามพูดประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอทาง แต่อีกฝ่ายไม่ยอมหลบ ขับแช่เลนขวาอีก จนตนต้องเป็นฝ่ายขับหลบเสียเองเพื่อขับไปถึงจุดหมายรับผู้ป่วย

นายปิยะพงษ์ สุขชนะ ประธานมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ ทุ่งสง เผยอีกแง่มุมว่า หลังเกิดเหตุมีหญิงสาวนำเรื่องราวไปโพสต์ตำหนิพฤติกรรมการขับรถของลูกทีมในทางที่ไม่ดี ตนในฐานะหัวหน้าทีมรีบตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนำกล้องที่ติดตั้งหน้ารถมาเปิดดู เห็นชัดว่าตอนช่วงขาไปรับผู้ป่วย ด้านหน้ามีรถยนต์ สีเขียว ขับกีดขวางเส้นทางจริง แม้จะเปิดสัญญาณไฟ ส่งสัญญาณเสียงแล้วก็ตาม ทำให้เข้าใจสถานการณ์การขับรถของลูกทีมที่ต้องขับรถเร็วเพื่อไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด ถ้าผู้ป่วยวิกฤตเข้าสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีเวลาเพียง 0-4 นาที เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยเหลือกู้ชีพได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมลูกทีมต้องรีบขับไปรับผู้ป่วย แต่มาประสบเหตุเจอรถขับขวางเส้นทาง จนเกิดความล่าช้าราว 1 นาที โดยขณะไปถึงพบผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้น เมื่อนำตัวขึ้นรถก็รีบปั๊มหัวใจ แต่สุดท้ายไม่อาจยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ เสียชีวิตระหว่างทาง ซึ่งถ้าไปถึงเร็วกว่านี้ก็มีโอกาสช่วยผู้ป่วยรอดชีวิต

ขณะเดียวกัน หลังเกิดเหตุแล้วไปสืบรู้มาว่า หญิงคนขับทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็น่าจะเข้าใจการช่วยเหลือผู้ป่วยดีกว่าใคร ๆ ยิ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยอาการหนักด้วย

เพื่อความเป็นธรรมกับหญิงอายุ 40 ปี คนขับรถยนต์ที่ปรากฏในคลิปและเป็นผู้โพสต์ โดยทราบเบื้องต้น เธอทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พื้นที่อำเภอทุ่งสง เล่าว่า ก่อนเกิดเรื่องเธอขับรถออกจากบ้านมาตามถนนทุ่งสง-ตรัง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทุ่งสงสุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปสี่แยกเกษตร เพื่อขับผ่านสี่แยกตรงไปโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ โดยช่องจราจรบริเวณนี้บังคับให้ต้องขับรถเข้าเลนขวา เนื่องจากช่องเลนซ้ายมีรถจอดซ้อนคันเป็นทางยาว จู่ ๆ ได้ยินเสียงรถกู้ภัยเปิดไซเรนขับตามหลังมา เธอยืนยันว่า ตอนแรกที่ได้ยินเสียงไซเรนพยายามขับเบี่ยงเข้าเลนซ้ายหลบให้รถกู้ภัยแล้ว แต่ช่องเลนซ้ายมีรถจอดซ้อนคัน จึงไม่สามารถเบี่ยงซ้ายได้ ประกอบกับรถกู้ภัยขับลักษณะเร่งเครื่องจ่อท้ายสลับหยุด โยกซ้ายทีขวาที นอกจากนี้ เธอยอมรับว่า รถกู้ภัยขับจ่อท้ายในระยะกระชั้นชิด ทำให้เสียสมาธิ จึงอยากให้สังคมฟังความทั้ง 2 ด้าน เพราะหลังเกิดเรื่องมีผู้ไม่หวังดีส่งข้อความมาต่อว่าสารพัด และบางคนวิจารณ์ในแง่ลบทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เสื่อมเสีย

เหตุการณ์นี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตอนช่วงขาไปแล้วไปเกิดเหตุมีรถยนต์กีดขวางเส้นทาง ซึ่งขณะนั้นในรถไม่มีผู้ป่วย ส่วนขากลับที่ไปรับตัวผู้ป่วยมาแล้วไม่ได้เจอเหตุการณ์อะไร ฉะนั้นความผิดในการขับรถคันหน้าที่ขับแช่เลนขวาตอนขาไป จึงเข้าข่ายแค่ความผิด พ.ร.บ.จราจร มาตรา 34 และ มาตรา 35 เท่านั้น ขณะนี้ ตำรวจ สภ.ทุ่งสง อยู่ระหว่างตรวจสอบเรียกคนขับรถที่ปรากฏตามคลิปภาพมาสอบสวน

ซึ่งเท่ากับว่าการกระทำนี้ไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.จราจร มาตรา 76 ที่ระบุ เรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้รถใช้ถนน เดินเท้า ต่อรถฉุกเฉินจะต้องหลบและหลีกให้พ้นผิวจราจรทันทีเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนหรือเห็นไฟวับวาบ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นวานนี้ นายธนเดช​ ทองคำชุม​ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ ทุ่งสง เข้าแจ้งความดำเนินคดีหญิงคนขับรถยนต์ที่นำเรื่องไปโพสต์ทำให้มูลนิธิฯ เสียหาย ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

มีเกร็ดความรู้มาฝากให้ตระหนักและพึงระวังกัน ที่ผ่านมาปรากฏกรณีคล้ายกันบ่อยครั้งถึงขั้นที่ว่า เพจกองปราบปราม โพสต์เตือนกันเลยทีเดียว "ถ้าขับรถกีดขวางทางรถพยาบาลฉุกเฉิน แล้วทำให้ผู้ป่วยในรถพยาบาลถึงแก่ชีวิต อาจเข้าข่ายความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือกระทำโดยเจตนาฆ่า แต่ปัญหาทั้งหมดจะไม่เกิดถ้าผู้ขับขี่ทุกคนมีจิตสำนึกและตระหนักถึงใจเขาใจเรา หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน รวมทั้งรถกู้ภัยด้วย 

ขณะเดียวกัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แนะนำวิธีให้ทาง "รถฉุกเฉิน" เมื่อเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนให้ผู้ขับขี่รถตั้งสติ พยายามมองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถพยาบาลที่วิ่งมา เมื่อดูปริมาณรถทั้งด้านซ้ายและขวา หากพบว่าไม่มีอันตรายก็ให้ลดความเร็วรถ และเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางทันที หากไม่สามารถหลีกทางได้เพราะสภาพจำนวนรถที่หนาแน่นและมีอันตราย ก็ให้หยุดชะลอรถ และเมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไปแล้วห้ามขับตามเด็ดขาด ทั้งหมดก็เพื่อให้ประชาชนยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark