ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

พ่อหยอกลูกแรง รับเสพยาจริง ยันไม่มีเจตนาทำร้าย

เช้านี้ที่หมอชิต - ใครจะมีเด็ก หรือเตรียมมีลูกต้องดูข่าวนี้ กรณีคลิปที่คุณพ่อคนหนึ่งอุ้มลูกน้อยอายุไม่ถึงเดือน เหวี่ยงด้วยความรุนแรง ซึ่งแพทย์บอกอันตรายมาก อาจถึงชีวิต ล่าสุดตำรวจจับกุมแล้ว แต่แจ้งข้อหาได้ข้อหาเดียวคือเสพยาเสพติด ส่วนพ่อเด็กยืนยันไม่มีเจตนาทำร้ายลูก

พ่อหยอกลูกแรง รับเสพยาจริง ยันไม่มีเจตนาทำร้าย
คลิปนี้ถูกโพสต์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง พร้อมแคปชันสั้น ๆ ว่า พ่อหยอกลูก กลายเป็นกระแส เพราะการหยอกลูกของคุณพ่อดูรุนแรง และอันตรายมาก ทั้งเหวี่ยงขึ้นบน เหวี่ยงไปด้านข้าง เรื่องนี้มีคนให้ข้อมูลกับ กันต์ จอมพลัง และนายศุกล เครือเสน ยูทูปเบอร์สายอีสานว่า ชายในคลิปมีอาการเมายาเสพติดจึงใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดยขณะนี้ให้ความช่วยเหลือจนล่าสุุดปลอดภัยแล้ว

ขณะพ่อเด็กถูกตำรวจคุมตัวมาสอบปากคำ สารภาพว่าเสพยาจริง แต่เจตนาคือจะหยอกลูก และที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ เพราะลูกจะเลิกร้องไห้ เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาเสพยาเสพติด และเตรียมส่งฝากขังเช้าวันนี้

ด้าน นายศุกล เจ้าของเพจ ซองดูฮี เล่าว่า เมื่อทราบเรื่องจึงได้ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการรีบแยกแม่และลูกออกจากผู้เป็นพ่อทันที

ส่วนแม่เด็ก และเด็ก อย่างที่ให้ดูเมื่อซักครู่ ตอนนี้ปลอดภัยดี แต่ช่วงแรกที่มาถึงน้องมีอาการซึม ๆ รับประทานนมได้น้อยลง ขณะแม่เด็กเป็นคน สปป.ลาว ที่มาอาศัยอยู่กับพ่อเด็ก ส่วนเด็กคนนี้เป็นลูกคนที่ 2 คลอดเมื่อ 9 กรกฎาคม แต่หลังเกิดเหตุ แม่เด็กจะขอกลับบ้านที่ สปป.ลาว และตัดขาดจากพ่อเด็ก ซึ่งทีมงานจะจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้และไปส่งที่ ตม.จังหวัดหนองคาย และจะมีทีมงานที่ สปป.ลาว ไปส่งให้ถึงบ้านเกิด แต่จะขอให้เอาน้องไปตรวจที่โรงพยาบาลก่อนเพื่อตรวจเช็กร่างกาย

หมอเด็ก ชี้ เขย่า-เหวี่ยงเด็กแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต-พิการ
ในมุมแพทย์ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เห็นคลิปแล้วต้องบอกว่าอันตรายมาก แต่คุณหมอบอกว่าจะเห็นเยอะมากในคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกช่วง 3 เดือนแรก เพราะหลายครอบครัวบอกว่า ถ้าเขย่าเด็ก เด็กจะเลิกร้องไห้ แต่ในหลักการถือว่าผิดและอันตรายมาก

ประเด็นแรกหากไม่มองเรื่องเมายาหรือไม่เมายา แค่วิธีการอุ้มลูกก็ผิดแล้ว เพราะปกติการอุ้มลูกจะต้องให้ศีรษะเด็กแนบร่างกายไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวแรง ๆ หากจะเขย่าก็ให้เขย่าเบา ๆ ตั้งแต่สะโพกลงไป เด็กก็จะไม่งอแงและหลับในที่สุด

ส่วนการเขย่าแรง ๆ จะส่งผลให้เส้นเลือดในสมอง เส้นประสาทฉีกขาด รวมถึงมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ในรายที่โชคดีเด็กอาจรอด แต่ในรายที่รอดเปอร์เซ็นที่จะกลับมาเป็นปกติก็น้อยมาก

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า กรณีนี้หากเป็นไปได้อยากให้พาเด็กเข้าไปพบแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูสภาพจิตใจดูแลทั้งแม่และเด็ก และที่สำคัญอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในการเลี้ยงเด็กด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark