ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ตรวจสอบตึก OPD รพ.ตรัง สร้าง 11 ปี ไม่เสร็จ

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตรวจสอบมหากาพย์ สร้างอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตรัง นานกว่า 11 ปี เปลี่ยนผ่าน 3 ผู้รับเหมา 7 ผู้ว่าฯ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่การใช้งบประมาณมากกว่า 400 ล้านบาท ติดตามเรื่องนี้กับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 7 ชั้น ขึ้นเป็นโครงสร้างที่เห็นอยู่นี้ คืออาคารผู้ป่วยนอก หรือ OPD และอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะถูกใช้สำหรับดูแลผู้ป่วย ของโรงพยาบาลจังหวัดตรัง แต่ขณะนี้ การก่อสร้างได้กินเวลามานานร่วมกว่า 11 ปี จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการมหากาพย์ที่ก่อสร้างไม่จบสิ้น

สาเหตุที่โครงการก่อสร้าง ยืดเยื้อยาวนานกว่า 11 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง บอกว่า เกิดจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจึงทำได้เพียงแค่ใช้อาคารหลังเก่าที่มีอยู่ ซึ่งรองรับผู้ป่วยนอกเต็มที่ได้แค่ 500 คน ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยกว่า 2,000-3,000 คน ที่เข้ามาใช้บริการ 

สำหรับโครงการนี้ เริ่มทำสัญญาการก่อสร้างกับบริษัท เจมิไนย์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด วงเงิน 417 ล้านบาท ตั้งแต่ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2555 โดย นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในสมัยนั้น ในระหว่างที่บริษัทผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ โครงการได้มีปัญหาก่อสร้างล่าช้ามาตลอด จนวันที่ 4 กันยายน 2558 จังหวัดได้ทำการยกเลิกสัญญา และทางบริษัทผู้รับเหมาได้ฟ้องอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจำนวน 137 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2559 นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เข้ามานั่งบริหาร และได้จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่ คือ บริษัท ทศพร เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ วงเงินงบประมาณ 404 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 940 วัน แบ่งเป็นงวดงาน 23 งวด เข้าดำเนินการก่อสร้างจริง ๆ ช่วงต้นเดือน มกราคม 2560 เนื่องจากปัญหาฝนตกน้ำท่วม ทำให้การกำหนดส่งงาน ล่าช้าออกไป สุดท้ายจังหวัด จึงยกเลิกสัญญาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และได้มีการริบหลักทรัพย์ค้ำประกัน จำนวน 10 ล้านบาท

ส่วนผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน เป็นรายที่ 3 คือ บริษัท กิจการร่วมค้า-เอสที-แมกแอนส์-ทีดับบิว เข้ามาดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ งบประมาณ 278,653,312 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 1 เมษายน 2563 สิ้นสุดสัญญา 31 มีนาคม 2565 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ต้องมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง

แม้ทางผู้รับเหมารับปากว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีหน้า แต่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ก็สะท้อนความกังวลใจว่าอาจจะไม่แล้วเสร็จตามแผนงานได้จริง จนทำให้ประชาชนต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ หรือ ทางสาธารณสุข จึงอยากให้ภาครัฐ มีระเบียบ วิธีการจัดการ การเฝ้าระวัง ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน ในทุกโครงการที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

อาคารผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่กำลังก่อสร้าง เป็นเงินจัดสรรจากกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งทางกระทรวงได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังดำเนินการโดยตรง แต่ผ่านการบริหารมาแล้วถึง 7 คน ก็ยังไม่สามารถแล้วเสร็จได้ และทิ้งคำถามปัญหาที่ค้างคาว่าใครต้องรับผิดชอบ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark