ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ลุ้นรัฐสภา ล่ม-ไม่ล่ม วัดกำลังทีม 500 กับทีม 100 ใครชนะ

เช้านี้ที่หมอชิต - วันนี้ยังต้องจับตาการประชุมรัฐสภาพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สูตรหาร 500 ซึ่งทำสภาล่มมาแล้ว 3 ครั้ง นัดล้างตาครั้งนี้ หากล่มเป็นครั้งที่ 4 ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมสูตรหาร 100

วันนี้เป็นวันสุดท้ายตามกรอบเวลา 180 วัน ที่รัฐสภาต้องพิจารณากฎหมายฯเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หากเลยเวลาไปก็ต้องกลับไปใช้ร่างเดิม เท่ากับกฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณากันมานานหลายเดือน จากสูตรหาร 100 พลิกกลับไปเป็นสูตรหาร 500 ตามความต้องการของนายกรัฐมนตรี สุดท้ายกำลังถูกตลบหลังใช้เทคนิกทางกฎหมายทำให้ร่างตกไป เพื่อพลิกกลับไปใช้สูตรหาร 100 อีกครั้ง

ซึ่งพรรคเพื่อไทย ยังย้ำจุดยืนเดินหน้าคว่ำกฎหมาย ล่มสภา เพื่อกลับไปใช้สูตรหาร 100 แม้สังคมจะกดดัน และถูกตำหนิ อ้างเป็นความชอบธรรมใช้กลไกสกัดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

แต่ในมุมมองของนักกฎหมาย ไม่คิดว่าจะใช้ข้ออ้างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้พิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จ กลับไปใช้ร่างเดิมได้ เพราะสภามีหน้าที่ออกกฎหมายไม่ควรใช้เทคนิกทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือแสวงหาความได้เปรียบทางการเมือง และไม่คิดว่าการล่มสภาครั้งนี้ จะเป็นการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ เพียงแต่บังเอิญสมประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่

ยังมีเสียงเตือนจากกูรูการเมืองถึงพรรคพลังประชารัฐ ร่วมดีลการเมือง จนเกิดการหักกันระหว่างพลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์ อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะพรรคที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากสูตรหาร 100 คือ พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ อาจารย์วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กประกาศไม่ร่วมพิจารณากฎหมายฯ ให้เหตุผลสูตรหาร 500 ขัดรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้ผ่านความเห็นชอบไป สุดท้ายก็จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก จนต้องนับหนึ่งใหม่ จนนำไปสู่สูญญากาศทางกฎหมายเลือกตั้ง

สำหรับเส้นทางของร่างกฎหมายฯ ต่อจากนี้หากเลยวันที่ 15 สิงหาคมไปแล้ว ร่างกฎหมายฯยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะตกไปทันที รัฐสภาต้องนำร่างเดิมสูตรหาร 100 มาใช้ ส่งให้ กกต.พิจารณาภายใน 15 วัน ถ้าภายใน 10 วัน กกต.ไม่ทำความเห็นอะไรมา ก็ถือว่าจบ แต่ถ้า กกต.เห็นต่าง ขอให้ปรับแก้ไข รัฐสภาจะมีเวลา 30 วัน ในการทบทวนร่างกฎหมาย จากนั้นจะถึงขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายฯขึ้นทูลเกล้า ซึ่งต้องรอ 5 วัน ในช่วงเวลานี้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อกันเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นปราการด่านสุดท้าย ที่พรรคเล็กคิดว่าจะพลิกสถานการณ์กลับมาใช้สูตรหาร 500 ได้ จึงต้องจับตากันต่อว่า "สูตรนี้จะมีพลิกอีกหรือไม่"

สรุปให้ท่านผู้ชมเข้าใจง่าย ๆ กันอีกครั้ง ถึงความแตกต่างระหว่างสูตรหาร 100 กับหาร 500 ดูตามกราฟิกกันเลย เราตั้งสมมติฐานว่ามีผู้ใช้สิทธิเลือก สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 40 ล้านคน ถ้าหาร 100 สส.พึงมี 1 คนจะต้องได้คะแนนเสียงจากประชาชน 400,000 เสียง แต่ถ้าเป็นหาร 500 จะลดลงมาเหลือแค่ 80,000 เท่านั้น เท่ากับหาร 100 พรรคใหญ่ได้เปรียบ ส่วนหาร 500 พรรคเล็กก็คิดว่าพวกเขาจะมีโอกาสมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark